วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การฝึกปฏิบัติ : ข้อฝึกอบรมสติ 5 ประการ


การฝึกปฏิบัติ : ข้อฝึกอบรมสติ 5 ประการ

เมื่อแรกที่หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ดำริว่าน่าจะนำหลักศีลห้ามาตีความ และประยุกต์ให้เข้ากับ ยุคสมัย สานุศิษย์ของท่านก็ขมวดคิ้ว โดยเหตุที่เขาเหล่านั้น ก็ไม่ต่างกับชาวไทยที่ถูกสั่งสอนมา ตั้งแต่เริ่มจำความได้ว่า ศีลห้า ก็คือ ข้อห้าม ห้ามทำโน่นทำนี่ แล้วจะกลายมาเป็นหลักปฏิบัติ ให้ทำอะไรต่อมิอะไร ได้อย่างไร

     แต่ภายหลังที่ท่านได้ขยายความให้ฟัง ก็รู้สึกว่าจะเป็นที่น่าทึ่งยิ่งนัก เพราะการตีความแบบใหม่ ครอบคลุม กับภาวะของยุคสมัยปัจจุบัน และ มองเห็นภาพชัดเจนยิ่งกว่า

     ไม่ว่าจะเป็นศีลปาณาติบาต ที่เราเข้าใจมาแต่เดิมว่าห้ามทำลายชีวิต ท่านขยายความไปถึง การเรียนรู้ที่จะ ปกป้องสภาพแวดล้อม และธรรมชาติ ศีลข้อห้ามลักทรัพย์ ก็รวมไปถึงการทุจริต คอรัปชัน ความอยุติธรรมทางสังคม ศีลข้อสาม ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ของเด็ก ศีลข้อสี่ ก็มิได้หมายถึงการห้ามกล่าวเท็จ แต่เพียงอย่างเดียว หากยังรวมไปถึงการตั้ง สัตย์ปฏิญาณ ที่จะพูดแต่ความจริง และถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความหวัง เบิกบาน และไม่ควรกระพือ ข่าวที่ตนเองไม่รู้แน่ชัด ตลอดจนละเว้นวาจาที่จะก่อให้เกิดความแตกแยก ส่วนศีลข้อสุดท้าย มิได้หมายถึงข้อห้ามจากสุราเครื่องดื่ม มึนเมา เหมือนแต่เดิม หากยังขยายความไปถึง การบริโภค ที่ไม่เหมาะสม ทั้งต่อร่างกายและจิตวิญญาณของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือ ภาพยนตร์ และการสนทนา

     ดังนี้ จะเห็นได้ว่า ศีลห้าได้ถูกตีความใหม่ในลักษณาการที่คนร่วมสมัยเข้าใจได้ ทั้งนี้ วิถีชีวิต ปัจจุบันนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ชีวิตและสังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การมองเห็นความ ผิดบาป หรือความเบียดเบียน ที่มนุษย์สามารถกระทำต่อผู้อื่นนั้น เป็นไปได้ยากขึ้นตามลำดับ

ข้อฝึกอบรมสติ 5 ประการ ก็คือ หลักศีล 5 ที่นำมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยนั่นเอง    

download ข้อฝึกอบรมสติ 5 ประการ ฉบับปรับปรุงใหม่ ได้ที่นี่ ... 



ข้อฝึกอบรมสติ 5 ประการ

ข้อฝึกอบรมสติ 5 ประการ คือ วิธีการเจริญสติ 5 วิธี ที่เป็นรูปธรรม ตามหลักคำสอนแห่งพระพุทธองค์ ในเรื่องอริยสัจ 4 และมรรค 8 อันเป็นหนทางแห่งความเข้าใจ และความรักอันแท้จริง ซึ่งมีความสามารถที่จะนำการบำบัดเยียวยา การแปรเปลี่ยน และความสุขมาสู่ตัวเราและโลก ข้อฝึกอบรมสติ 5 ประการนี้คือการบ่มเพาะปัญญาแห่งการเป็นดั่งกันและกัน ซึ่งคือความคิดเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) ความคิดเห็นที่ถูกต้องสามารถถอดถอนความเชื่ออย่างงมงาย ความแบ่งแยก ความคับแคบ ความกลัว ความเกลียดชัง และความสิ้นหวังทั้งปวง การดำเนินชีวิตและฝึกปฏิบัติตามข้อฝึกอบรมสติ 5 ประการนี้ คือการอยู่บนหนทางของผู้ตื่นรู้ (พระโพธิสัตว์) ข้อฝึกอบรมสติ 5 ประการนี้เป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนา อันตั้งอยู่บนพื้นฐานทางจิตวิญญาณและจริยธรรมโลก เมื่อเราตระหนักรู้ว่าเรากำลังอยู่บนหนทางแห่งพระพุทธองค์ เราจะไม่หลงไปกับความกังวลต่อปัจจุบัน และความหวาดกลัวต่ออนาคต



ข้อฝึกอบรมสติข้อที่ 1 การปกป้องชีวิต

     ด้วยความตระหนักรู้ถึงความทุกข์จากความรุนแรงและการทำลายชีวิต ข้าพเจ้าขอตั้งปณิธานที่จะบ่มเพาะปัญญาแห่งการเป็นดั่งกันและกัน (ความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของสรรพสิ่ง) และหล่อเลี้ยงความเมตตากรุณาให้เบ่งบาน เพื่อที่จะปกป้องชีวิตของมนุษย์ สัตว์ พืช และสภาพแวดล้อมของสรรพชีวิตเหล่านั้น ข้าพเจ้าขอตั้งปณิธานที่จะไม่ทำลายชีวิต ไม่ปล่อยให้ผู้อื่นทำลายชีวิต และไม่สนับสนุนการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดการทำลายชีวิต ไม่ว่าจะด้วยความคิด หรือการดำเนินชีวิตประจำวันของข้าพเจ้าก็ตาม ข้าพเจ้าเห็นว่าการก่อความรุนแรงทั้งหลาย มีสาเหตุจาก ความโกรธ ความกลัว ความอยาก ความคับแคบ และความเชื่ออย่างงมงาย ที่มีรากมาจากความคิดที่เป็นสองขั้ว และแบ่งแยก ข้าพเจ้าตั้งปณิธานที่จะเรียนรู้ ฝึกฝน ให้มีทัศนะอันเปิดกว้่าง ไร้การแบ่งแยก ไม่ติดยึดกับความเห็นใดความเห็นหนึ่ง ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง หรือระบบความคิดแบบใดแบบหนึ่ง เพื่อที่จะแปรเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรง ความเชื่ออย่างงมงาย และการยึดติดในลัทธิใดๆ ที่มีอยู่ในตัวข้าพเจ้าและในโลกนี้



ข้อฝึกอบรมสติข้อที่ 2 ความสุขอันแท้จริง

     ด้วยความตระหนักรู้ถึงความทุกข์จากการหาผลประโยชน์ส่วนตัว การลักขโมย การกดขี่ ความอยุติธรรมทางสังคม ข้าพเจ้าขอตั้งปณิธานว่าจะทำทานด้วยการแบ่งปันเวลา พลัง และทรัพย์สิน ให้แก่ผู้ที่มีความจำเป็น ไม่ว่าจะโดยทางความคิด คำพูด หรือการกระทำในชีวิตประจำวัน ข้าพเจ้าตั้งจิตมั่นว่า จะไม่ลักขโมย และไม่ครอบครองสิ่งที่ควรเป็นของผู้อื่่น ข้าพเจ้าตั้งจิตมั่นว่าจะฝึกการมองอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะเห็นว่าความสุขและความทุกข์ของผู้อื่น มีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับความสุขและความทุกข์ของข้าพเจ้าเอง ความสุขที่แท้จริงจะมีไม่ได้ ถ้าปราศจากความรักและความเข้าใจ การหาความสุขโดยวิ่งตามหาอำนาจ ชื่อเสียง ความร่ำรวย และกามารมณ์ จะนำไปสู่ความทุกข์และความสิ้นหวัง ข้าพเจ้าตระหนักดีว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ได้เกิดขึ้นมาจากภายนอก แต่เกิดขึ้นมาจากภายในจิตใจ จากวิธีการมองและการคิดของข้าพเจ้าเอง ดังนั้น การฝึกที่จะดำเนินชีวิตด้วยความพอดี ทำให้ข้าพเจ้ามีชีวิตอย่างมีความสุขได้ในขณะนี้ เพียงแต่ข้าพเจ้าจะต้องมีความสามารถที่จะกลับมาสู่ปัจจุบันขณะ และตระหนักถึงเงื่อนไขแห่งความสุขที่มีพร้อมอยู่แล้ว ข้าพเจ้าตั้งปณิธานที่จะประกอบอาชีพอันสุจริตชอบธรรม (สัมมาอาชีวะ) เพื่อที่จะบรรเทาความทุกข์ของสรรพชีวิตบนผืนโลกนี้ และเปลี่ยนแปลงกระบวนการอันส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน



ข้อฝึกอบรมสติข้อที่ 3 ความรักที่แท้จริง

     ด้วยความตระหนักรู้ถึงความทุกข์จากการประพฤติผิดในกาม ข้าพเจ้าขอตั้งปณิธานว่าจะบ่มเพาะความรับผิดชอบ และเรียนรู้วิธีที่จะปกป้องความมั่นคง ความปลอดภัย และความซื่อสัตย์ของปั้จเจกบุคคล คู่สมรส ครอบครัว และสังคม ข้าพเจ้ารู้ดีว่าการมีเพศสัมพันธ์ และการมีความรักนั้นเป็นสองสิ่งที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น การมีความสัมพันธ์ทางเพศอันเนื่องด้วยความใคร่ จะนำความทุกข์และความแตกแยกร้าวฉาน มาสู่ตัวข้าพเจ้าและบุคคลอื่นอยู่เสมอ ข้าพเจ้าตั้งปณิธานที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวมีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากความรักที่แท้จริง และพันธะสัญญาในระยะยาวอย่างเปิดเผยเป็นทางการ ข้าพเจ้าจะทำทุกอย่างตามกำลังความสามารถ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ตลอดจนปกป้องไม่ให้คู่สมรส และครอบครัวต้องแตกแยก เนื่องจากการประพฤติผิดในกาม ด้วยการมองเห็นถึงการเป็นอันหนึ่งอัันเดียวกันของกายและใจ ข้าพเจ้าตั้งจิตมั่นว่า จะเรียนรู้วิธีที่จะดูแลพลังทางเพศอย่างเหมาะสม และบ่มเพาะความรัก ความเมตตา ความกรุณา ความเบิกบาน และความไม่แบ่งแยก ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการของรักแท้ (พรหมวิหาร 4) เพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่ของตนเองและผู้อื่น ด้วยการฝึกปฏิบัติรักที่แท้นี้ เราจะมีความสืบเนื่องอันงดงาม และเปี่ยมด้วยความสุขต่อไปในอนาคตอยู่เสมอ



ข้อฝึกอบรมสติข้อที่ 4 วาจาแห่งความรักและการฟังอย่างลึกซึ้ง

     ด้วยความตระหนักรู้ถึงความทุกข์จากการกล่าวถ้อยคำที่ขาดความยั้งคิด และขาดความสามารถที่จะฟังอย่างลึกซึ้ง ข้าพเจ้าขอตั้งปณิธานที่จะเรียนรู้การใช้วาจาที่ไพเราะเปี่ยมด้วยความรัก และการตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะช่วยหยิบยื่นความเบิกบาน แบ่งเบาความทุกข์ของผู้อื่น สร้างความสุขสันติ และฟื้นฟูความปรองดอง สามัคคีระหว่างทุกคน ทุกเชื้อชาติ และทุกศาสนา ข้าพเจ้ารู้ดีว่าคำพูดสามารถก่อให้เกิดความสุข หรือความทุกข์กับผู้อื่นได้ ข้าพเจ้าขอตั้งจิตมั่นที่จะเรียนรู้การใช้วาจาที่ก่อให้เกิดความมั่นใจ ความเบิกบาน ความสงบ และความหวัง ข้าพเจ้าตระหนักดีว่าถ้อยคำแห่งความจริงมีคุณค่าที่จะสร้างความเข้าใจ และความปรองดอง สามัคคี ข้าพเจ้าตั้งจิตมั่นที่จะไม่กล่าวสิ่งใดๆ ในขณะที่ความโกรธปรากฎขึ้นในใจ แต่จะกลับมาอยู่กับลมหายใจและเดินอย่างมีสติ เพื่อที่จะตระหนักรู้และมองอย่างลึกซึ้งเข้าไปในรากของความโกรธ ข้าพเจ้าตระหนักดีว่าความโกรธนั้น มีรากฐานมาจากความคิดเห็นผิดที่มีอยู่ในตัวข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าจะพยายามหาวิธีทำความเข้าใจกับความทุกข์ในตัวข้าพเจ้า และในบุคคลที่ข้าพเจ้าโกรธ ข้าพเจ้าขอตั้งจิตมั่นว่าจะพูดแต่ความจริง และตั้งใจฟังในวิถีที่จะช่วยให้ผู้อื่่นได้แปรเปลี่ยน และเห็นทางออกจากความยากลำบากที่กำลังเผชิญอยู่ ข้าพเจ้าขอตั้งปณิธานที่จะไม่กระพือข่าวที่ตัวเองไม่รู้แน่ชัด และละเว้นจากการกล่าววาจาที่จะก่อให้เกิดความแตกแยก ไม่ปรองดองกัน หรือทำให้ครอบครัว ชุมชน ต้องแตกแยกร้าวฉาน ข้าพเจ้าขอตั้งปณิธานว่าจะฝึกปฏิบัติความเพียรอันถูกต้อง (สัมมาวายามะ) เพื่อบำรุงหล่อเลี้ยงความสามารถที่จะเข้าใจ รัก และก่อให้เกิดความสุข ตลอดจนความไม่แบ่งแยก พร้อมทั้งแปรเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรง ความเกลียดชัง ความกลัว อันนอนเนื่องอยู่ในเบื้องลึกของจิตวิญญาณ



ข้อฝึกอบรมสติข้อที่ 5 การบำรุงหล่อเลี้ยงและเยียวยา

     ด้วยความตระหนักรู้ถึงความทุกข์จากการบริโภคที่ขาดสติ ข้าพเจ้าขอตั้งปณิธานว่าจะเรียนรู้วิธีการแปรเปลี่ยน และบ่มเพาะสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ เพื่อตัวเอง ครอบครัว และสังคม ด้วยการกิน ดื่ม บริโภคอย่างมีสติ ข้าพเจ้าจะฝึกการมองอย่างลึกซึ้งในอาหาร 4 ปรเภท ได้แก่ อาหารที่รับผ่านทางปาก อาหารทางประสาทสัมผัส อาหารทางความปรารถนา และอาหารทางวิญญาณ เพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่เป็นพิษทั้งหลาย ข้าพเจ้าตั้งจิตมั่นที่จะไม่เล่นการพนันเสี่ยงโชค จะไม่ใช้แอลกอฮอล์หรือสิ่งเสพติดอื่นใด รวมทั้งการบริโภคสิ่งให้โทษบางประเภทในอินเตอร์เนต เว็บไซต์ เกมส์ รายการวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ นิตยสาร หนังสือ และการสนทนา ข้าพเจ้าขอตั้งปณิธานว่า จะฝึกปฏิบัติการกลับสู่ปัจจุบันขณะอยู่เสมอ เพื่อสัมผัสกับความสดชื่นในตัวข้าพเจ้าและสิ่งรอบข้าง ซึ่งมีความสามารถที่จะบำรุง หล่อเลี้ยง และเยียวยา ข้าพเจ้าตั้งจิตมั่นว่า จะไม่ปล่อยให้ความเศร้าโศกเสียใจ ดึงข้าพเจ้ากลับไปในอดีต และไม่ปล่อยให้ความกังวล ความกลัว ความอยาก ดึงข้าพเจ้าให้หลงเข้าไปในอนาคต ข้าพเจ้าขอตั้งปณิธานที่จะไม่บริโภคเพื่อกลบเกลื่อนความทุข์ ความเหงา และความกังวล ข้าพเจ้าจะมองอย่างลึกซึ้งเข้าไปในธรรมชาติแห่งความเป็นดั่งกันและกัน (ความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของสรรพสิ่ง) เพื่อจะเรียนรู้วิธีบริโภค ในหนทางที่จะรักษาความสุขสันติในกายและใจของตนเอง สังคม และโลก

คัดลอกจาก : หมู่บ้านพลัม ประเทศไทย

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กับเพื่อนๆค่ะ

    ตอบลบ

บทความที่ได้รับความนิยม