เลิกรบสงบศึก
เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล และ รินใจ
คัดลอกจากหนังสือ “อยากจะเปลี่ยนชีวิต…ต้องเปลี่ยนวิธีคิด”
รวบรวมในหนังสือ “ความจริงเกี่ยวกับ ความรัก ความโกรธ และ ความเมตตา เล่ม ๓”
“การมีเมตตาเป็นแรงจูงใจในการทำงาน
ช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีความสุข
เพราะเมตตาทำให้จิตอ่อนโยน ไม่แข็งกร้าวและตึงเครียด
อีกทั้งยังช่วยลดแรงเสียดทานกับคนอื่นได้มาก”
บ้านของสมจิตรมีแมวสองแม่ลูกมาอาศัยอยู่ ทั้งสามชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยดี จนกระทั่งวันหนึ่ง สมจิตรตื่นขึ้นมาเห็นซากสัตว์ชิ้นเล็ก ๆ อยู่ใกล้ซอกตู้
สมจิตรเดาไม่ออกว่าเป็นสัตว์อะไร เขารู้คำตอบในคืนถัดมาเมื่อตื่นกลางดึกเห็นลูกแมวกำลังขย้ำศพหนู โดยมีตัวแม่เฝ้าดูอยู่ใกล้ ๆ แม่แมวคงเบื่อให้นมลูก จึงไปล่าหนูมาเป็นอาหารของแมวน้อยแทน
ตอนที่เขาตื่นมาเห็นนั้น ลูกแมวแทะหัวหนูจะเหวอะถึงกะโหลกแล้ว เขากลัวว่าขืนปล่อยไป มันคงชำแหละร่างหนูและฉีกออกเป็นชิ้น ๆ อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าซากหนูถูกปล่อยทิ้งกระจายตามซอกตู้ นึกถึงกลิ่นเหม็นที่จะต้องตลบอบอวลในอีกไม่กี่วันข้างหน้าแล้ว เขาจึงตัดสินใจแย่งหนูออกจากคมเขี้ยวของลูกแมว
แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด ลูกแมวกัดขย้ำหนูแน่น ไม่ยอมปล่อย ขนาดสมจิตรเอาด้ามไม้กวาดมาช่วยงัดแงะ ก็ไม่ได้ผล แถมเจ้าแมวน้อยกลับบันดาลโทสะ ส่งเสียงขู่โดยไม่ยอมคลายคมเขี้ยว อากัปกิริยาตรงข้ามกับตอนดูดนมแม่หรือเล่นกับสมจิตร ราวกับว่าพอได้กลิ่นเลือดสัญชาตญาณป่านักล่าเนื้อก็ฟื้นกลับมา สมจิตรยิ่งแย่งยิ่งงัด ลูกแมวก็ยิ่งขย้ำและส่งเสียงคำรามดังขึ้น ราวกับจะบอกว่า “หนูของข้า ๆ ๆ”
ยิ่งลูกแมวขัดขืน สมจิตรก็ยิ่งฉุนเฉียว นึกถึงเศษซากที่กระจัดกระจาย และกลิ่นตลบอบอวลของซากหนูที่เน่าเหม็นแล้ว ความรู้สึกว่า “บ้านของกู ๆ” ก็ผุดทะลวงขึ้นมาในใจเต็มที่ แล้วเขาก็เตรียมเอาไม้ฟาดกระหน่ำเจ้าแมวน้อยให้ยอมแพ้
แต่ก่อนที่เรื่องจะบานปลาย สมจิตรก็ได้คิด จะทำบาปหรือนี่ พอได้สติได้เขาก็เปลี่ยนความคิด ความรู้สึกใหม่มาแทนที่
“แมวเอ๋ย ปล่อยหนูเถอะนะ อย่าทำให้บ้านเลอะเทอะเลย เราจะได้อยู่ด้วยกันอย่างสบาย” เขาพูดกับลูกแมวในใจ แล้วท่าทีเขาก็อ่อนลง
ทีนี้ลูกแมวดูเหมือนจะฟังเขา มันคลายอาการดึงดัน แล้วสมจิตรก็ชิงหนูออกจากปากลูกแมวได้ และนำไปทิ้งในที่สุด
สงครามย่อย ๆ เกือบจะเกิดขึ้น เพราะฝ่ายหนึ่งยึดติดว่า “หนูของกู” ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็หมายมั่นว่า “บ้านของกู”
ใช่หรือไม่ว่า เมื่อใดก็ตามที่ความยึดติดถือมั่นว่า “กู” หรือ “ของกู” บังเกิดกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย ความเป็นปฏิปักษ์ก็เกิดขึ้นทันที และง่ายที่จะลุกลามไปสู่การวิวาทและความรุนแรง
เวลาถูกเพื่อนตักเตือน ถ้าเราเกิดความรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า “เขาว่ากู” สิ่งที่ตามมาคือความไม่พอใจเพื่อนคนนั้น แล้วก็เลยปัดคำเตือนนั้นทิ้งไป
แต่ถ้าเราเลือกที่จะตอบสนองไปอีกแบบหนึ่ง เช่นถามขึ้นมาในใจว่า “ที่เขาพูดนั้นจริงไหม?” นอกจากความโกรธจะไม่เกิดขึ้นแล้ว ยังได้ประโยชน์จากคำเตือนของเขา เพราะหากจริงตามที่เขาพูด ก็จะได้ไปปรับปรุงแก้ไขตนเอง
ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดย้ำเสมอว่า
“ตัวกู เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็ทุกข์เมื่อนั้น”
เพราะเมื่อมี “ตัวกู” ก็ต้องมี “ของกู” ซึ่งทำให้เกิดการยึดมั่น หวงแหน และกระทบกระทั่งกับคนที่เข้ามาขัดขวาง คุกคาม หรือไม่เอื้อเฟื้อสิ่งที่เราถือว่าเป็น “ตัวกู ของกู”
แม้แต่ทำบุญทอดกฐิน ถ้ายึดมั่นถือมั่นว่า นี่เป็น “กฐินของกู” ก็เตรียมตัวทุกข์ได้เลย
เพราะเมื่อเป็นกฐินของกู ก็จะต้องพยายามหาเงินมาให้ได้เยอะ ๆ ครั้นไม่ได้ตามเป้าก็เสียใจ ใครให้มาน้อย ก็ไม่พอใจ ใครไม่แจกซองให้ทั่วถึงก็โกรธ และจะรู้สึกเสียหน้ามากหากพบว่า กฐินของคนข้างบ้านได้เงินมากกว่า คนร่วมเยอะกว่า ใหญ่โตกว่า
อ้าว ก็ไม่คิดว่า นี่เป็นงานของฉัน ฉันจะทุ่มเททำงานได้อย่างไร ถ้าไม่คิดว่านี่เป็นบ้านของฉัน ฉันจะดูแลบ้านไปทำไม คุณคงสงสัยอยู่ในใจ
คนเราไม่จำเป็นต้องทำอะไร เพียงเพราะยึดถือว่าสิ่งนั้นเป็นของตัวเอง แต่อาจทำด้วยสาเหตุหรือแรงจูงใจอย่างอื่นก็ได้ เช่น บ้านหลังนี้ช่วยคุ้มแดดคุ้มฝนให้ฉันอยู่ได้อย่างผาสุก ฉันจึงควรดูแลรักษาเขาให้แข็งแรง รถคันนี้รับใช้ฉันอย่างดี ฉันจึงควรหมั่นตรวจดูน้ำมันเครื่องให้เขา
ในทำนองเดียวกัน เราสามารถทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เพราะถือว่าเป็นงานของฉัน แต่เพราะเห็นว่างานนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย ไม่ใช่แค่เป็นประโยชน์ต่อฉันเท่านั้น
แรงจูงใจอย่างนี้เรียกว่า “เมตตา” คือความปรารถนาดีต่อผู้อื่น
การมีเมตตาเป็นแรงจูงใจในการทำงาน ช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีความสุข เพราะเมตตาทำให้จิตอ่อนโยน ไม่แข็งกร้าวและตึงเครียด อีกทั้งยังช่วยลดแรงเสียดทานกับคนอื่นได้มาก
สงครามในที่ทำงานหรือในบ้าน
มักเกิดขึ้นเพราะ “อัตตา”
หรือความยึดมั่นใน “ตัวกู ของกู”
ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนจาก “อัตตา”
มาเป็น“เมตตา” เมื่อไร
ความสงบสุขจะเกิดขึ้น
เช่นเดียวกับที่เกิดกับสมจิตรและแมวน้อย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น