วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เมตตาภาวนา


เมตตาภาวนา
เขียนโดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

คัดลอกจากหนังสือ “อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๑ ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ”
รวบรวมในหนังสือ “ความจริงเกี่ยวกับ ความรัก ความโกรธ และ ความเมตตา เล่ม ๓” 

อานิสงส์ของการเจริญเมตตาภาวนา 
๑. หลับเป็นสุข 
๒. ตื่นเป็นสุข 
๓. ไม่ฝันร้าย 
๔. อมนุษย์รักใคร่ 
๕. มนุษย์ทั้งหลายรักใคร่ 
๖. เทวดาทั้งหลายย่อมคุ้มครอง 
๗. ไฟ ศาสตราวุธ ยาพิษ ไม่อาจกล้ำกราย 
๘. ผิวหน้าย่อมผ่องใส 
๙. จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็ว 
๑๐. เมื่อตายเป็นผู้ไม่หลง 
๑๑. เมื่อจากโลกนี้ไป ก็ไปบังเกิดในพรหมโลก 

     เมื่อเจริญเมตตาภาวนาบ่อยๆ จะมีอานิสงส์ช่วยระงับความโกรธได้ 

     ให้เจริญเมตตาให้กับตัวเองก่อนโดยอาศัยสติ สมาธิ และปัญญา ให้พยายามรักษาใจให้สงบนิ่ง กำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า พักหนึ่ง 

"การแผ่เมตตาให้กับตัวเอง" 
     อะหังสุขิโตโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ถึงสุข 
     ยกขึ้นมาพิจารณาทุกครั้งที่รู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก 

     ความสุขอยู่ที่ไหน ความสุขไม่ใช่อยู่ที่อารมณ์โกรธ หรือเมื่อเราได้โกรธคนอื่น เราโกรธเขา เขาก็เป็นทุกข์เหมือนเรา หรือทุกข์มากกว่าเรานั่นแหละ เขาก็กำลังแก่ กำลังเจ็บไข้ ป่วย กำลังจะตาย เหมือนเรานั่นแหละ 

     เขาก็กำลังประสบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เหมือนกับเรา เพราะ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วดับไปในที่สุด ไม่แน่นอน ไม่คงอยู่ได้ 

     ความสุขอยู่ที่การปล่อยวางสิ่งภายนอก และสัญญาอารมณ์ต่างๆ ระลึกรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าถอนจิต ถอนอุปาทานจากอารมณ์โกรธ น้อมเข้ามา ๆ ให้จิตพักอาศัยอยู่ที่ลมหายใจ 

     "เอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร" 
     หายใจออกยาว ๆ สบาย ๆ      หายใจเข้าช้า ๆ ลึก ๆ หน่อย 
     หายใจออกยาว ๆ สบาย ๆ      หายใจเข้า สบาย ๆ ภาวนาว่า 
     ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ถึงสุข    หายใจเข้า 
     หายใจออก สบาย ๆ              แล้วพิจารณาต่อว่า 

     นิททุกโข โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไร้ทุกข์ 

     ความชั่วร้ายของเขา เป็นของเขา ไม่ใช่ของเรา เราไม่ต้องไปคิด ไปเกาะติดยึดมั่นถือมั่น แบกเอาไว้ 

     ความชั่วของใครก็เป็นของร้อนเป็นทุกข์ทั้งนั้น เราไปยึดติดเมื่อไร ก็เดือดร้อน เป็นทุกข์เมื่อนั้น

     ถึงแม้ว่า เขาผิดจริงก็ตาม ผู้มีปัญญา ผู้หวังความสุข ไม่เอามาคิดเป็นอารมณ์ ให้ระวัง ๆ แล้วพิจารณาต่อว่า 

     อะเวโรโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่มีเวร 

     ตรวจตราดูความรู้สึกภายในใจตัวเอง หรือสังเกตดูความนึกคิดของเรา ว่ามีเวรหรือไม่ 

     จองเวรเขา ก็เหมือนจองเวรตัวเอง ทำให้จิตเศร้าหมอง 

     “เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร เวรระงับด้วยการไม่จองเวร” 

     ถ้าเราต้องการความสุข เราต้องเป็นผู้ไม่มีเวร ให้ระงับความรู้สึก นึกคิดจองเวรใคร ๆ ออกไปจากภายในใจของเรา ให้อภัย อโหสิกรรมแก่ทุกคน

     ทุกครั้งที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ชำระความรู้สึก ความนึกคิดจองเวรให้หมดไป ๆ

     เอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร หายใจออก หายใจเข้า สบาย ๆ แล้วพิจารณาต่อ 

     อัพยาปัชโฌโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

     ตรวจตราภายในใจดูว่า มีความรู้สึกนึกคิดเบียดเบียนใครหรือไม่ ถ้าเขาคิดอย่างนี้กับเรา พูดอย่างนี้กับเรา ทำอย่างนี้กับเรา เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเราไม่สบายใจ เราก็ไม่น่าคิดกับเขาอย่างนั้น รักษาใจ ไม่ให้หวั่นไหวต่ออารมณ์พอใจ และไม่พอใจที่มากระทบ 

     จงสร้างเกาะไว้เป็นที่พึ่งด้วย สติ สัมปชัญญะ ปัญญา สมาธิ หิริโอตตัปปะ และขันติ คือความอดทน รวมกันไว้ที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ไม่ให้เกิดทุกข์ ไม่ให้มีทุกข์ ไม่ให้เบียดเบียนใคร ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า

     สุขีอัตตานัง ปะริหะรามิ จงรักษาตนอยู่เป็นสุขเถิด 
     ให้ระลึกถึงปีติสุขทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เรื่อย ๆ ๆ ๆ 
     รู้เฉพาะปีติสุข หายใจออก รู้เฉพาะปีติสุข หายใจเข้า
     ให้หัวใจของเรานี้เต็มไปด้วยปีติสุข แล้วแผ่ความสุขออกไป ๆ ๆ ๆ 

     การแผ่เมตตานี้ ต้องแผ่เมตตาให้แก่ตัวเองก่อน จนให้เกิดความสุขใจ

     การจะให้เกิดความสุขใจนั้นต้องอาศัย สมาธิ และ ปัญญาสนับสนุนกัน ด้วยอำนาจสมาธิ จิตสามารถยังปีติสุขให้เกิดได้ และต้องใช้ปัญญาเห็นโทษของการคิดผิด คิดเบียดเบียน ฯลฯ ให้ระงับความคิดเหล่านั้นด้วยสติปัญญา จึงจะเกิดเมตตาได้ 

"การแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์" 
     สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ 
     ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ถึงความสุข 

     เมื่อใจเรามีความสุข มีเมตตา มีความรู้สึกรักใคร่ ปรารถนาดี มีความรักที่บริสุทธิ์ ให้แผ่ความรัก ความเมตตาที่บริสุทธิ์กระจายออกไปจากหัวใจของเราไปยังสรรพสัตว์ 

     วิธีแผ่เมตตา มี ๒ วิธี คือ 
     วิธีที่ ๑. อาศัยนิมิต
     วิธีที่ ๒. ไม่มีนิมิต 

     "อาศัยนิมิต" เมื่อใจเราเต็มไปด้วยความสุขแล้ว ขณะที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ให้นึกมโนภาพถึงคนที่เราตั้งใจจะแผ่เมตตาไปให้ไว้เฉพาะหน้า หรือไว้ที่หัวใจ นึกมโนภาพ ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส กำลังมีความสุขของเขา และส่งกระแสเมตตาจิตไป ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
     
     เริ่มต้นจากคนใกล้ชิดตัวเราที่รักกันอยู่ก่อน เช่น พ่อ แม่ ลูก ภรรยา เพื่อนรัก เพื่อนร่วมงาน เป็นต้น ต่อไปก็คนที่เป็นกลาง ๆ ไม่รัก ไม่ชัง ค่อย ๆ แผ่ไป ๆ ทีละคน ทีละกลุ่ม 

     ต่อไปก็ถึงคนที่เรากำลังมีปัญหาอยู่กับเขา ตั้งใจ หวังดีต่อเขา ปรารถนาดีต่อเขา ขอให้เขาจงมีความสุขเถิด ขอให้ไม่มีเวรซึ่งกันและกันเถิด ขอให้เราอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย 

     "ไม่มีนิมิต" เมื่อเราพร้อมแล้ว เรามีปีติและสุข ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้าแล้ว สัพเพสัตตา สุขิตาโหนตุ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ถึงความสุข พยายามทำความรู้สึกที่ดี ความปรารถนาดี ความรักที่บริสุทธิ์ แผ่ออกไป รอบ ๆ ตัวเรา ทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก 

     พยายามนึกไปกว้าง ๆ ไกล ๆ คลุมไปทั่วโลก ทั่วจักรวาล มีแต่ความสุข ทุกลมหายใจออก – เข้า สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ หายใจออกเต็มไปด้วยความสุข หายใจเข้าเต็มไปด้วยความสุข 

     กามวิตก พยาบาทวิตก หิงสาวิตก เป็นศัตรูต่อการเกิดเมตตาจิต เมื่อใจเรามีเมตตา จิตใจก็จะสงบ มีความสุข ไม่ต้องคิดเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ความรัก จากใครอีกต่อไป พ่อแม่ไม่รักเรา ลูกหลานไม่รักเรา สามีภรรยาไม่รักเรา ปัญหาเหล่านี้ก็หมดไป เพราะหัวใจของเราเต็มไปด้วยความสุขและความรัก เรามีแต่ให้ ๆ ๆ ๆ ๆ 

"พรหมวิหาร ๔" 

     คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นธรรมประจำใจของผู้ใหญ่ 
    
         "เมตตา" คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีต่อผู้อื่นและตัวเอง ใครที่อดอยาก ทุกข์ยากลำบาก ด้อยกว่าเรา เราอยากให้เขามีความสุขด้วยการให้ทาน ช่วยเหลือสงเคราะห์เขา เมื่อเขามีความสุขเราก็มีความสุขด้วย แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน เช่น หมา แมว กำลังอด ๆ หิวข้าวอยู่ เราก็ให้อาหาร เขาก็มีความสุขในการกิน เราก็มีความสุข แต่ก็ต้องระวังเหมือนกัน ถ้าเราตามใจลูกหลาน เขาอาจพอใจ แต่เสียนิสัยก็เป็นได้ ต้องระวัง 

     พรหมวิหาร มี ๔ ข้อ แต่ต้องเจริญเมตตาก่อน ไม่มีเมตตา กรุณามีไม่ได้ 
     ไม่มีกรุณา มุทิตา อุเบกขาก็มีไม่ได้ การเจริญเมตตาง่ายกว่าข้ออื่นทุกข้อ 

   "กรุณา" คือ มีจิตใจสงสาร อยากให้เขาพ้นทุกข์ เป็นจิตที่สูงกว่า และยากกว่าเมตตา เป็นความปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ รู้จักผิดถูก เมื่อเขาทำผิดต้องชี้แจง แนะนำ สั่งสอน เพื่อให้เขาละความชั่ว ความผิด แก้ไขตัวเอง อันนี้เราต้องมีจิตใจกล้าหาญ ถ้าใจดีแต่ใจอ่อนก็ทำไม่ได้ เพราะเราเจตนาดีแต่เขาอาจจะไม่พอใจ อาจจะกระทบกระเทือนใจเขา เขาอาจจะโกรธเรา พ่อแม่ที่เมตตารักลูกก็มีแยะ แต่คนที่มีกรุณาก็น้อย เพราะต้องดุ ต้องว่า ต้องสอน บางทีก็ต้องลงโทษด้วย นี่เป็นกรุณา 

      "มุทิตา" คือ พลอยยินดีเมื่อเขาได้ดีมีความสุข ทำจิตยากกว่ากรุณาอีก เขาได้ดีกว่าเรา เราไม่อิจฉา ยินดีมีความสุขกับเขาด้วย เช่น เพื่อนรุ่นเดียวกับเรา เรียนเก่งกว่าเรา หล่อกว่าเรา รวยกว่าเรา ตำแหน่งก็ได้สูงกว่าเรา ภรรยาของเขาสวยกว่าภรรยาเรา เรารู้สึกว่าเขาดีกว่าเรา มีความสุขกว่าเรา อะไร ๆ ก็ดีกว่าเราทุกอย่าง (จริง ๆ แล้วไม่แน่) แต่เรายินดีกับเขาด้วย อันนี้เป็นมุทิตาจิต 

     มุทิตาจิตนี้ละเอียด ทำยาก ขนาดพระ ครูบาอาจารย์ ที่มีเมตตา กรุณามาก แต่มุทิตาจิตนี้ก็มียาก มุทิตาจิต เป็นจิตที่ไม่อิจฉา สูงกว่ากรุณา และทำยากกว่า 

      "อุเบกขา" วางเฉยนี้ยิ่งยากกว่ามุทิตาจิตอีก อะไรจะเกิด ใครจะนินทาก็ไม่หวั่นไหว รักษาใจเป็นกลาง เฉย ๆ ต้องเข้าใจกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกรรม ต้องเข้าใจเรื่องเหตุผลและเหตุปัจจัย ต้องมีปัญญา จึงจะเกิดอุเบกขาได้ 

    อุเบกขา ต้องประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา จึงจะเป็นอุเบกขาจริง ๆ. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม