วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขให้กับเด็กๆ ตามแนวทางหมู่บ้านพลัม


บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขให้กับเด็กๆ ตามแนวทางหมู่บ้านพลัม

สรุปบรรยายธรรมและเนื้อหาจากงานภาวนา "สู่ศานติสมานฉันท์"
       23-27 พฤษภาคม 2550 ณ ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ล้านนา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

โดย พรรัตน์ วชิราชัย / สำนักข่าวบางบ๊วย


          ทุกครั้งที่หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ขึ้นบรรยายธรรม ท่านมักเชื้อเชิญเด็กๆ มานั่งด้านหน้าเสมอ ท่านบอกว่าเด็กๆ คือความสดชื่น คือความแจ่มใส คือดอกไม้ที่บานอยู่ทุกขณะ อีกด้านหนึ่งท่านอยากให้เด็กๆ ได้มีโอกาสสัมผัสธรรมะตั้งแต่ยังเล็ก

          บทบรรยายธรรมที่ท่านกล่าวกับเด็กๆ จึงเปี่ยมเป็นด้วยความรักความเอ็นดู และเป็นรูปธรรม ซึ่งเด็กๆ สามารถนำไปใช้ต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นการภาวนากับก้อนกรวด การเชิญระฆังแห่งสติ การมองอย่างลึกซึ้งไปในผลส้ม ฯลฯ

          หมดบรรยายธรรมช่วงแรก เด็กๆ จะเดินกันเป็นแถวเพื่อออกนอกห้องประชุม พร้อมวิ่งเล่นไปทั่ว บ้างนั่งเล่นของเล่น กินขนม คุยเล่น หยอกหัว ภิกษุและภิกษุณีนั้นก็ช่วยดูแลดอกไม้น้อยๆ ไม่ห่างตา

          ซนอย่างนี้ พอหลวงพี่ชวนมานั่งล้อมวงและเชิญระฆังร่วมกัน เสียงระฆังน้อยๆ ก็ก้องกังวานใสไม่แพ้ใคร

          ฟังสิๆ เสียงระฆังอันประเสริฐ นำฉันมาสู่บ้านที่แท้จริง


เปิดกว้างดั่งสายน้ำฉ่ำเย็น

          คุณแม่โม่ย หรือ นางสุวรรณา โชคประจักษ์ชัด อุชุคตานนท์ ซึ่งพาลูกสาว "น้องพลัม" และ ลูกชาย "น้องปราณ" มางานภาวนา "สู่ศานติสมานฉันท์" 23-27 พค. 2550 ด้วย เอ่ยปากกับเราว่า "หมู่บ้านพลัม" เป็นสถานปฏิบัติธรรมแห่งเดียว ที่เธอสามารถพาครอบครัวทั้งครอบครัวและเด็กๆ มาด้วยได้

          สำหรับคนทั่วไปสถานปฏิบัติธรรมนั้นคือ สถานที่ที่ต้องการความสงบ การพา เด็กมาด้วยเป็นเรื่องไม่ควรและน่ารำคาญ ไหนจะเสียงร้องไห้ของเด็กน้อย ไหนจะ งอแงเอานู้นเอานี่ไม่เลิก

          "แต่มาที่นี้มันง่ายมาก เราได้ปฏิบัติ ลูกๆ ก็ได้ปฏิบัติด้วย มีบรรยากาศ สนับสนุนเรา สนับสนุนลูก หลวงปู่ท่านให้ความสำคัญกับเด็กๆ เปิดให้เด็กและ คนหนุ่มสาวได้มีโอกาสก่อนเสมอ โปรแกรมของเด็กๆ ของหมู่บ้านก็เข้าใจง่าย และสนุกสนาน"


           การพาเด็กๆ มาด้วย นอกจากจะเป็นการพาครอบครัวมาปฏิบัติธรรมร่วมกัน สำหรับคุณแม่สุวรรณาเธอบอกว่ามันเป็นการพา เด็กๆ มาพบสิ่งแวดล้อมที่ดี เต็มไปด้วยธรรมชาติและผู้คนที่ยิ้มแย้มมีความสุข พวกเขาต่างมาฝึกปฏิบัติเพื่อ พัฒนาและเปลี่ยนแปลง ภายใน เด็กๆ ย่อมซึมซับและบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีงาม โดยไม่ต้องผ่านการพร่ำบอก

          "เด็กๆ มักถามว่าเมื่อไหร่จะไปอีกๆ เพราะมาแล้วสนุก ได้เจอเพื่อน ได้ร้องเพลง ได้เจอคนใจดี ฟังเสียงระฆัง แล้วหยุดอยู่ กับลมหายใจ"

          น้องพลัม รักษิณา อุชุคตานนท์ เอ่ยเสียงเจื้อยแจ้วๆ ว่าเธอชอบมาที่นี้

          "สนุกดีค่ะ หนูมีเพื่อนเยอะเลย" เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

          คุณแม่เล่าให้เราฟังว่า เธอเคยเดินทางไปหมู่บ้านพลัมมาก่อน ในช่วง Summer Retreat นั้น หมู่บ้านพลัมจะจัดงานภาวนา สำหรับคนหนุ่มสาว เด็กๆ และวัยรุ่นจากหลากหลายประเทศจะมารวมกันภาวนา และจัดงานรื่นเริงในวันไหว้พระจันทร์ เพื่อระลึกถึง รากเหง้าของตนเองและครอบครัว ณ เวลานั้น บรรยากาศช่างเปี่ยมล้นไปด้วยความสดใส และความสุขของครอบครัว

          "พี่ไม่เคยเห็นสถานปฏิบัติธรรมที่ไหนที่เต็มไปด้วยคนหนุ่มสาวเช่นนี้มาก่อน"




การภาวนากับเด็กๆ

          เด็กๆ ซน และไม่อยู่นิ่ง แถมพวกเขายังมาจากคนละชาติ คนละภาษา บ้างพูดไทย อังกฤษ อินเดีย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา พวกเขาเล่นตามภาษา โดยไม่ คำนึงถึงภาษาเท่าไหร่นัก แต่การที่จะทำให้เขานั่งลงทำสมาธิ นั่งฟังบรรยายธรรม หรือเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมะได้ เป็นเรื่องยากยิ่งกว่าจับปูใส่กระด้ง

          แต่สำหรับ ภิกษุณีรัตนกัลยา หรือ Sister Jewel หลวงพี่ที่คอยดูแลเด็กๆ อยู่เสมอ เธอกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของเด็ก และ เราทำธรรมะให้เป็นจริงจับต้องได้



          "เด็กๆ เป็นธรรมชาติและซึมซับสิ่งที่เราสอนง่าย เพียงแต่เราชวนเขามา เป็นเพื่อน คุยกับเขา เล่นกับเขา ฟังเขา เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการความร่วมมือ จากเขา มันจะง่ายมาก เขาพร้อมที่จะฟัง" หลวงพี่ตอบด้วยท่าทีใจดีมีเมตตา

          ท่านบอกกับเราว่า คำสอนหลักของเด็กนั้นไม่ต่างกับผู้ใหญ่ คือ "การมีสติ" แต่วิธีการนั้นต่างออกไปเล็กน้อย ท่านจะไม่ให้เด็กๆ ทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง นานนัก แต่ปรับกิจกรรมตามธรรมชาติของเด็ก เปิดช่วงเวลาในการเล่น ทานขนม และแทรกกิจกรรมภาวนา การวาดรูป รวมทั้งพูดคุยแลกเปลี่ยนให้เด็กๆ ได้แสดง ความคิดเห็น เมื่อทำเช่นนี้เด็กๆ ก็จะไม่รู้สึกอึดอัด แต่จะรู้สึกสนุก เพลิดเพลิน และ ซึมซับสิ่งดีงามเหล่านี้ด้วยความเต็มใจ

          สำหรับ "การนั่งสมาธิ" หลวงปู่นัท ฮันห์ ได้เสนอแนะให้เด็กๆ "ภาวนากับก้อนกรวด" ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายและน่าสนใจมาก เริ่มจากเด็กๆ ควรมีถุงเผ้าเล็กๆ สำหรับเก็บก้อนกรวด 4 ก้อน เมื่อเราเริ่มต้นทำสมาธิ ให้หยิบถุงนี้ขึ้นมา และนั่งล้อมกันเป็นวงกลม เด็กคนหนึ่ง จะเป็นผู้เชิญระฆัง 3 ครั้ง

          เริ่มภาวนา ให้หยิบก้อนกรวดก้อนแรกขึ้นมาประสานไว้ในอุ้งมือ พร้อมกับให้ ก้อนกรวดก้อนนี้เป็นตัวแทนของ "ดอกไม้" ตามลมหายใจ 3 ครั้ง หายใจเข้า ฉันเป็นดั่ง ดอกไม้ หายใจออก ฉันสดชื่น (ดอกไม้/สดชื่น) การภาวนาเช่นนี้เป็นการฟื้นฟูความสดชื่น แจ่มใส ความเป็นดอกไม้ในตัวเรา

          หลังจากภาวนาก้อนกรวดก้อนแรกเสร็จ เราหยิบก้อนกรวดก้อนที่สองขึ้นมา โดยให้ มันเป็นตัวแทนของ "ภูเขา" คือ ความมั่นคงในตัวเรา หายใจเข้า ฉันเป็นดั่งขุนเขา หายใจออก ฉันมั่นคง (ขุนเขา/มั่นคง)

          ก้อนกรวดก้อนที่ 3 เป็นตัวแทนของ "น้ำใส" คือ ความชัดเจน ไม่บิดเบือน เราจะ ภาวนาว่า หายใจเข้า ฉันเป็นดั่งน้ำใส หายใจออกฉันสะท้อนสิ่งต่างๆ ดั่งที่มันเป็น (น้ำใส/สะท้อน)

          สำหรับก้อนกรวดก้อนสุดท้าย เป็นตัวแทนของ "ความว่างหายใจเข้า ฉันเป็นดั่ง ความว่าง หายใจออก ฉันเป็นอิสระ (ความว่าง/อิสระ)

          การนั่งสมาธิเช่นนี้ทำให้สิ่งที่เราทำสมาธิได้ง่ายขึ้น เป็นการปฏิบัติที่สามารถสัมผัส จับต้องได้ และไม่เพียงแต่เด็กๆ เท่านั้น ผู้ใหญ่ก็ชอบการภาวนากับก้อนกรวดเช่นกัน

(อ่าน "ภาวนากับก้อนกรวด" เพิ่มเติมได้ที่นี่...)

 นอกจากการภาวนากับก้อนกรวด หมู่บ้านพลัมยังมี บทเพลงแห่งสติมากมายให้เด็กๆ ได้ขับร้อง หนึ่งในนั้นมีบทเพลง ที่เป็นคำสอนหลัก สำหรับเด็กๆ คือ "Two promises" ซึ่งว่าด้วย คำปฏิญาณที่จะบ่มเพาะความรัก ความเข้าใจกับผู้คน สรรพสัตว์ ต้นไม้ และ แร่ธาตุ



Two Promise

                                    I vow to develop my understanding,
In order to live peacefully with people,
Animals, plants and minerals,
Animals, plants and minerals.Mmm ahh, 
mmm, ahh, mmm ahh.

I vow to develop my compassion,
In order to protect the lives of people,
Animals, plants and minerals,
Animals, plants and minerals.
Mmm ahh, mmm, ahh, mmm ahh.

        หลวงพี่รัตนกัลยา กล่าวกับเราต่อไปว่า ท่านมักชักชวนเด็กๆ บ่มเพาะความเข้าใจผ่านหลายวิถีทาง นอกจากร้องเพลงภาวนา ท่านจะชวน เด็กๆ แลกเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การมองลึกลงไปในผลส้มที่กำลังจะทาน ท่านตั้งคำถามว่า ผลส้มมีอายุ กี่ปี เด็กๆ มีคำตอบ มากมายตั้งแต่ 1 ปี 20 ปี 50 ปี บ้างว่าไปถึง 80 ปี ทว่าไม่มีคำตอบไหนที่ผิด แม้ว่าเวลาในการปลูกต้นส้ม หนึ่งต้นนั้นใช้เวลาเพียง 3 เดือน แต่ผลส้มนั้นเคยดำรงอยู่มานานแล้วก่อนหน้านี้

          หากเราลองพิจารณาดู ผลส้มนั้นใช้กว่า 3 เดือน กว่าจะมาถึงมือเรา แต่เมื่อมาอยู่ในมือเรา เรากลับใช้เวลาเพียงนาทีเดียว ทานส้มหมดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ด้วยเหตุนี้ท่านจึงชักชวนให้เด็กๆ รับประทานส้มอย่างมีสติ พร้อมทั้งขอบคุณเหตุปัจจัยมากมาย ที่ทำให้เกิดผลส้มผลนี้ขึ้นมา

          "ส้มเกิดจากน้ำ ดิน คนสวน พระอาทิตย์" เด็กน้อยคนหนึ่งตอบเสียงใส

          เมื่อถามหลวงพี่ว่า สอนเด็ก แล้วเด็กสอนอะไรหลวงพี่บ้าง หลวงพี่ตอบว่า เด็กๆ ฉลาด และซื่อตรงมาก หากหลวงพี่เผลอ ไม่มีสติ หรือสอนสิ่งใดที่เป็นเพียงความคิด เป็นนามธรรมมากเกินไป พวกเขาจะสะท้อนกลับทันที ทำให้หลวงพี่ได้ตั้งคำถามกับ ตัวเองหลายต่อหลายครั้ง

          "พวกเขาช่วยเตือนหลวงพี่ให้กลับมาสู่ความจริง และ ซื่อสัตย์กับทุกสิ่งมากขึ้น" หลวงพี่รัตนกัลยากล่าว


พุทธศาสนากับคนรุ่นใหม่

          นอกจากภิกษุ ภิกษุณีที่เป็นผู้ดูแลเด็กๆ แล้ว พี่สาวพี่ชายรุ่นโตหน่อย มักมาช่วย ดูแลน้องๆ อยู่เสมอ

          อาวินท์ ชัยสัมฤทธิโชค นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 สาธิตจุฬาฯ อายุ 14 ปี เขาเป็น เด็กหนุ่มวัยรุ่นที่คลุกคลีกับวัดและพระตั้งแต่ยังเด็ก เขาเล่าว่าเขาเคยไป วัดป่ามหาวัน จังหวัดชัยภูมิ อาสาไปเป็นเด็กวัดอยู่ร่วมสัปดาห์ อีกทั้งยังเคยมา ปฏิบัติภาวนาแนวทางหมู่บ้านพลัม เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว รวมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2

          อาวินท์เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นเขาเป็นเด็กคนเดียวที่ไปงานภาวนา เขาสัมผัส ความสนุกสนานและผู้ใหญ่ใจดี แม้ว่าโปรแกรมการอบรมภาวนานั้น จะไม่ต่างจาก ผู้ใหญ่เลย แต่เขาก็ไม่เบื่อ

          แต่สำหรับเด็กวัยเดียวกัน "ธรรมะ" เป็นเรื่องที่ดูเชยเสียจนเพื่อนๆ ล้อ อาวินท์จึงเลือกที่จะแบ่งปันเรื่องราวเหล่านี้เฉพาะกับเพื่อนที่สนิทเท่านั้น

          "ผมค่อนข้างเป็นคนเซนซิทิฟ ร้องไห้ โกรธ เสียใจง่าย มางานภาวนาแล้ว ผมสามารถดูแลอารมณ์ได้มากขึ้น ใจเย็นขึ้น แล้วก็สนุก เพราะได้เจอคนที่ คล้ายๆ กัน"

          สำหรับงานภาวนาคราวนี้ หนุ่มน้อยมีความตั้งใจมาเป็นอาสาสมัครดูแล เด็กๆ เขาแลกเปลี่ยนว่า เขามีความสุขมาก แม้ไม่ค่อยมีโอกาสได้ฟังบรรยาย ธรรมจากหลวงปู่นัท ฮันห์ เพราะต้องดูแลน้องๆ ก็ไม่รู้สึกเสียใจ ในทางกลับกัน เขารู้สึกเป็นสุข สดใส และสนุกสนานเมื่ออยู่กับน้องๆ และเพื่อนวัยเดียวกัน

          "สนุกดีครับ คอยดูแลเด็ก เด็กใสดี ผมชอบ แถมได้ฟังเรื่องที่หลวงพี่ ท่านสอนให้ เด็กๆ ฟังด้วย ง่ายและสนุกดี"




          สำหรับ ศุภาพิชญ์ รุ่งเรืองผล หรือ น้องปุ่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยอายุ 15 ปี เธอดูเป็น เด็กมาดมั่น ซอยผมสั้นทันสมัย สวมแว่นตากรอบดำ ปุ่นเป็นหนึ่งในอาสาสมัครพี่เลี้ยงเด็ก นอกจากนี้เธอยังเป็นชาวคริสเตียน และ มาภาวนาตามแนวทาง หมู่บ้านพลัมแล้วถึง 2 ครั้ง

          เมื่อสอบถามถึงความต่างในเรื่องศาสนา น้องปุ่นตอบอย่างชัดเจนว่า

          "หนูไม่รู้สึกว่ามันเป็นศาสนานะ แต่เป็นวิธีทำอย่างไรให้เรามีความสุขกับปัจจุบัน หนูเป็นคริสต์ หนูสวดมนต์ไม่ได้ แต่มา ภาวนาแบบนี้ หนูไม่ต้องสวดมนต์ก็มาเรียนรู้ได้ ส่วนวิธีการภาวนาก็ง่าย ไม่เคร่งครัดอะไรมาก"

          นอกจากนี้สิ่งที่เธอสัมผัสได้อย่างแท้จริง คือ พระภิกษุและพระภิกษุณีที่พบนั้นใจดี เปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา
          "หนูรู้สึกว่าพระที่นี้เป็นคนธรรมดาที่ใจดี แต่สำหรับพระไทย สิ่งที่เราสัมผัส คือ เหมือนท่านไม่ใช่คนธรรมดา ท่านเป็นบุคคล อีกชั้นวรรณะที่ชวนทำตัวไม่ถูก"

          อีกหนึ่งพี่ใหญ่ที่ดูแลเด็กๆ คือ ญี่ปุ่น หรือ นางสาวศรินลักษณ์ พิมพ์ลิขิตศักดิ์ เธอพึ่งเรียนจบคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาตร์ มาหมาดๆ และเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา เธอได้มีโอกาสไปภาวนาและท่องเที่ยวกับคุณแม่ที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส เธอเล่าว่าประสบการณ์ 3 อาทิตย์ที่นั้น เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขและผ่อนคลายมาก เธอจึงตัดสินใจมาร่วมงานภาวนาครั้งนี้อีก แต่เมื่อถูกวานให้มาช่วยดูแลเด็ก เธอก็ไม่ปฏิเสธ

          "หนูเป็นคนชอบดูแลเด็กอยู่แล้ว แต่ไม่เคยดูเด็กเยอะขนาดนี้มาก่อน เหนื่อยแต่ก็สนุกดีค่ะ" ญี่ปุ่นเล่ายิ้มๆ

          เธอแลกเปลี่ยนว่าการปฏิบัติตามแนวทางหมู่บ้านพลัมนั้นง่าย และ เปิดกว้างให้คนทุกวัฒนธรรมจริงๆ เหมาะกับคนรุ่นใหม่ เพราะไม่มีพิธีการมากนัก

          "พุทธศาสนาของเรามักยากเกินไป สำหรับคนไม่ได้ปฏิบัติจะคิดว่ามันคือการใส่บาตร ทำบุญ เข้าวัด เป็นเรื่องของกรรม เป็นเรื่องของเวร แต่พุทธศาสนาของหมู่บ้านพลัมจะชัดเจนว่า แค่คุณมีสติก็พอ มีความสุขในปัจจุบัน ญี่ปุ่นไม่ได้มองว่ามันเป็น ศาสนา แต่เป็นแนวทางปฏิบัติ"


          ในบทบรรยายธรรมวันสุดท้ายของงานภาวนา "สู่ศานติสมานฉันท์" หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์กล่าวกับผู้ร่วมปฏิบัติว่า

          "เราควรจะทำให้พุทธศาสนาให้ใหม่อยู่เสมอ โดยค้นคว้าวิธีการใหม่ๆ ในการ นำเสนอพุทธศาสนา เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและคนรุ่นใหม่  
         
           คนรุ่นใหม่ไม่เข้าวัดอีกแล้ว เพราะเราไม่ได้ทำพุทธศาสนาให้ใหม่ เราต้อง ทำให้พุทธศาสนาให้น่าสนใจ สร้างสรรค์ ง่ายและเป็นรูปธรรม พร้อมกับมองให้ ลึกซึ้งในคำสอนของพุทธองค์"      
     
           คำพูดนี้จึงคล้ายเป็นการเตือน ให้เรากลับมามองพุทธศาสนา ศาสนาประจำ ชาติ ด้วยสายตาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น 
---------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : http://www.thaiplumvillage.org/act500523_27_news02.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม