วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปฏิทินชีวิต ๘๐ ปีของท่าน พุทธทาสภิขุ


ปฏิทินชีวิต ๘๐ ปีของท่าน พุทธทาสภิขุ
(๒๔๔๙-๒๕๒๙)

๒๔๔๙
เด็กชายเงื่อม หรือพุทธทาสภิกขุในเวลาต่อมา เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ตรงกับวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย บุตร นายเซี้ยงและนางเคลื่อน พานิช ที่หมู่บ้านกลาง ตำบลพุมเรียง ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นที่ตั้งของจังหวัดไชยา

๒๔๕๑
เด็กชายยี่เกย หรือ ธรรมทาส พานิช ผู้น้องชาย เกิดเมื่อ วันที่ ๑๓ สิงหาคม

๒๔๕๒
ย้ายที่ตั้งตัวจังหวัดไปอยู่บ้านดอน

๒๔๕๗
เมื่ออายุ ๘ ขวบ บิดามารดาพาเด็กชายเงื่อมไปฝากเป็นเด็กวัดที่วัดพุมเรียง เป็นเวลา ๓ ปี เพื่อรับการศึกษาเบื้องต้นตามแบบโบราณ

๒๔๖๐
เด็กชายเงื่อมกลับมาอยู่บ้าน เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดโพธาราม และเล่าเรียนที่นี่จนถึงชั้นมัธยม

๒๔๖๔
ย้ายมาเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๒ ที่โรงเรียนสารภีอุทิศ ตำบลตลาด เพื่อจะได้อยู่กับบิดา ซึ่งมาเปิดร้านค้าอีกแห่งหนึ่งที่ตำบลนี้

๒๔๖๕
บิดาถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน เด็กหนุ่มเงื่อมออกจากโรงเรียนมาช่วยดำเนินการค้ากับมารดา

ระหว่างนี้ นายยี่เกย น้องชาย บวชเป็นสามเณรและเรียนชั้นมัธยมอยู่ที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี

๒๔๖๘
เปิดโรงเรียนนักธรรมขึ้นปีแรกในตำบลพุมเรียง

๒๔๖๙
ต้นปีนายยี่เกยเข้าเตรียมแพทย์จุฬา
ก่อนเข้าพรรษานายเงื่อมบวชเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ได้ฉายา "อินฺทปญฺโ??" จำพรรษาที่วัดพุมเรียง
ปลายปีสอบได้นักธรรมตรี ไม่ลาสิกขาตามกำหนด
ปิดเทอมปลายปี นายยี่เกยกลับบ้านและไม่ไปเรียนต่อ เพื่อเปิดโอกาสให้พระเงื่อมได้บวชเรียนต่อไป

๒๔๗๐
พระเงื่อมสอบได้นักธรรมโท

๒๔๗๑
ต้นปีพระเงื่อมเข้าเรียนต่อกรุงเทพฯ ครั้งแรกที่วัดปทุมคงคา อยู่ได้เพียง ๒ เดือน ก็เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดพุมเรียง
ปีนั้นสอบได้นักธรรมเอก

๒๔๗๒
เป็นครูสอนนักธรรม โรงเรียนนักธรรม วัดพระบรมธาตุไชยา
นายยี่เกยตั้งคณะธรรมทานขั้นต้นขึ้น โดยเปิดหีบหนังสือธรรมะให้คนยืมอ่านที่ร้านไชยาพานิช
เริ่มรับหนังสือวารสารพุทธศาสนาภาษาอังกฤษจากต่างประเทศ
นายยี่เกยเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ ใช้นามปากกาว่า "ธรรมทาส"

๒๔๗๓
พระเงื่อมขึ้นกรุงเทพฯ มาอยู่วัดปทุมคงคาอีกครั้งหนึ่งเพื่อเรียนบาลีต่อ
เขียนบทความชิ้นแรกชื่อ "ประโยชน์แห่งทาน" เพื่อพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระอุปัชฌาย์ มีเนื้อความตอบคำถามของคนสมัยใหม่ที่เริ่มสงสัยคุณค่าของการทำทานแบบที่ทำ ๆ กันอยู่
ปลายปีเขียนบทความขนาดยาวเรื่อง "พระพุทธศาสนาขั้นบุถุชน" อธิบายคุณค่าของพระพุทธศาสนาด้วยภาษาสมัยปัจจุบัน และเริ่มแสดงความคิดเห็นว่า มรรค ผล นิพพาน เป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงในสมัยปัจจุบัน บทความนี้พิมพ์เป็นหนังสือแจก งานฉลองโรงเรียนนักธรรมวัดพระบรมธาตุไชยา
ปลายปีนั้นสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค เป็นพระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ??

๒๔๗๔
เบื่อเรียนมากขึ้น ค้นคว้าศึกษานอกตำราเรียนออกไป ความคิดอุดมคติเริ่มตั้งมั่น

ปลายปีสอบเปรียญธรรมประโยค ๔ ตก เตรียมเดินทางกลับบ้านเพื่อทำงานตามอุดมคติ

๒๔๗๕
เดินทางกลับถึงพุมเรียง (๖ เม.ย.)
เข้าอยู่ในวัดร้างตระพังจิก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสวนโมกข์ (๑๒ พ.ค.)
นางเคลื่อนทำพินัยกรรมมอบเงิน ๖,๓๗๘ บาท ตั้งเป็นทุนต้นตระกูลพานิช ใช้ดอกผลบำรุงสวนโมกข์และคณะธรรมทาน
คณะธรรมทานตั้งขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ (ก.ค.) เปิดบ้านหนังหนึ่งเป็น "ห้องธรรมทาน" มีทำบุญเลี้ยงพระและเทศน์ทุกวันพระและวัน ๘ ค่ำ
เริ่มเขียน "ตามรอยพระอรหันต์" ในเดือนสิงหาคม

๒๔๗๖
ออกหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ราย ๓ เดือน
เริ่มเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์สภาพพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ใช้นามปากกา "ธรรมโยช" "ชินวาทก์" ฯลฯ และเขียน "ทำไมไม่ไปกับพระโลกนาถ" ลงหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๗๖

๒๔๗๗
คณะธรรมทานซื้อแท่นพิมพ์มาพิมพ์หนังสือเอง เขียน "คันถะธุระกับวิปัสสนาธุระเนื่องกันอย่างไร"
เริ่มแปล "พุทธประวัติจากพระโอษฐ์"
แปล "บาลีมหาสติปัฏฐานสูตร"
สด กูรมะโรหิต เขียนเรื่องมาจากปักกิ่ง ทั้งหมดนี้ลงพิมพ์ในพุทธสาสนา
ก่อนเข้าพรรษาเดินทางไปนครศรีธรรมราช ปาฐกถาเรื่อง "การส่งเสริมปฏิบัติธรรม" และ "หลักพุทธศาสนา" ให้แก่คณะของพระดุลยพากย์สุวมัณฑ์ ซึ่งเปิดสวนปันตาราม ตามแบบสวนโมกขพลาราม
ในพรรษาเข้ากรรมฐาน ๓ เดือนงดพูด จดบันทึกปฏิบัติธรรมเป็นรายวัน
เขียนบทความขนาดยาวเรื่อง "การปฏิบัติธรรม" (๑๗ ก.พ.)

๒๔๗๘
ทางราชการย้ายที่ว่าการอำเภอจากพุมเรียง ไปอยู่ที่ตำบลตลาด ริมทางรถไฟ
คณะธรรมทานและโรงพิมพ์ธรรมทานย้ายตามไปอยู่ที่ตำบลตลาดด้วย
เริ่มแปล "อริยสัจจากพระโอษฐ์" ลงพุทธสาสนา
เดินทางไปเทศน์ถิ่นไทยทางใต้สุด กลับมาเขียนเรื่อง "พระพุทธศาสนาในถิ่นไทยทางใต้"
เริ่มติดต่อกับสามเณรกรุณา กุศลาสัย (ต่อมาคืออาจารย์กรุณา กุศลาสัย) บรรพชิตไทยรูปเดียวที่เดินเท้าไปถึงอินเดียพร้อมกับพระโลกนาถ (พระภิกษุชาวอิตาเลียน)

๒๔๗๙
แปลและแต่งกาพย์สุกรยักษ์ อันเป็นคำวิจารณ์พระสงฆ์อย่างรุนแรง (จากบางตอนของสุมังคลวิลาสินี)
เขียน "คุณค่าของปริยัติ" ชี้ให้เห็นความสำคัญของการเชื่อมระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติในพุทธศาสนา
เขียน "สังคายนาแต้มหัวตะ" เรียกร้องให้แปลพระไตรปิฎกเป็นไทย และวิจารณ์การทำสังคายนาที่ผ่าน ๆ มา
ท่านปัญญานันทะ พระราชญาณกวี (บุญชวน) และสามเณรสำเริง มาร่วมจำพรรษาอยู่ด้วย
พิมพ์รวมเล่มพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ครั้งแรก
คณะธรรมทานเปิดโรงเรียนพุทธนิคม

๒๔๘๐
หัวหน้ากองตำรามหามกุฎราชวิทยาลัย ประกาศใช้พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ เป็นหนังสือประกอบแบบเรียน (๑๕ มิ.ย.)
แปล "ลังกาวตาลสูตร" จากพระสูตรฝ่ายมหายาน ลงพุทธสาสนา
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) วัดเทพศิรินทร์ ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม และผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เดินทางมาเยี่ยมสวนโมกข์และค้างคืน ๑ คืน (๒๖ มิ.ย.)
เขียน "บรรณวิจารณ์อภิธานัปปทีปนีกา" และ "ต้นบัญญัติสิกขาบท" ไว้อาลัยวาระสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (๑๖ ธ.ค.)

๒๔๘๑
เริ่มอบรมสามเณรชุดพิเศษ เพื่อสร้างนักเผยแผ่ที่ทันสมัย (งานที่ไม่ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา)
เรียบเรียง "เกียรติคุณของพระพุทธเจ้า" หนังสือพุทธประวัติสำหรับคนหนุ่มสาว ลงวันที่ ๑๑ ม.ค.
เขียนบทความขนาดยาว "อนัตตาของพระพุทธเจ้า"
พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี) อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ พระยาภะรตราชสุพิช ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ มาเยี่ยมสวนโมกข์เป็นครั้งแรก

๒๔๘๒
นายยี่เกยเปลี่ยนชี่อเป็น "ธรรมทาส" อย่างเป็นทางการ
สร้างหอสมุดธรรมทาน ที่วัดชยาราม เป็นที่พักและที่ทำงานอีกแห่งหนึ่ง
มีบทความเกี่ยวกับกฤษณมูรติ ลงพุทธสาสนา
เขียนบทความขนาดยาว ๕๕ หน้า "ตอบปัญหาบาทหลวง" หักล้างความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าแบบบุคคลอย่างรุนแรง ลงพุทธสาสนา

๒๔๘๓
เกิดสงครามในยุโรป ทำให้กระดาษแพง หายาก พุทธสาสนา ๒ เล่ม ออกรวมเป็นเล่มเดียว
เริ่มมีบทความต่อต้านสงครามเรื่อง "ไฟไหม้โลกยุคกึ่งพุทธกาล" ลงพุทธสาสนา
แสดงปาฐกถาที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ตามคำอาราธนาของพุทธธรรมสมาคม (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ.๒๔๘๔) ในหัวข้อเรื่อง "วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม" (๑๓ ก.ค. พูด ๒ ชั่วโมง ๑๕ นาที)

๒๔๘๔
ทางราชการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ จาก ๑ เมษายน เป็น ๑ มกราคม
เริ่มแปล "ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์" ลงพุทธสาสนา
๒๔๘๕

เริ่มสร้างสโมสรธรรมทาน ที่วัดชยาราม
หนังสือพิมพ์พุทธสาสนาเริ่มลงเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน
แสดงปาฐกถาธรรมที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยเรื่อง "ความสงบในฐานะเป็นผลแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม"

๒๔๘๖
วางเงินซื้อที่บริเวณธารน้ำไหลจากหลวงพรหมปัญญา เมื่อ ๑๘ มีนาคม
หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์เป็นผู้เชื่อมให้ได้เฝ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่วังวรดิศ เพื่อปรึกษาหารือเรื่องโบราณคดีเมืองไชยา
เทศน์งานพระราชทานเพลิงศพของสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เรื่อง "ลักษณะน่าอัศจรรย์บางประการของนิพพาน" (๒๒ ส.ค.)
เขียนความเรียบเรียงเชิงประวัติ เกี่ยวกับชีวิตและงานในสวนโมกข์ที่ผ่านมาชื่อ "สิบปีในสวนโมกข์"

๒๔๘๙
ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายองค์การเผยแผ่ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี (๒๒ ม.ค.)
ย้ายมาจำพรรษาที่สวนโมกข์แห่งใหม่ บริเวณธารน้ำไหล เขาพุทธทอง (สวนโมกข์ปัจจุบัน)
คณะพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์มาเยี่ยมครั้งที่ ๒

๒๔๘๙
ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครูอินทปัญญาจารย์
ปาฐกถาธรรมที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เรื่อง "พุทธธรรมกับสันติภาพ" (๒ มี.ค.)
เลิกสวนโมกข์แห่งเดิมที่พุมเรียงโดยสิ้นเชิง (ก่อนหน้านี้ยังมีพระอยู่ประจำ)
ปาฐกถาธรรมที่สมาคมพุทธบริษัทไทยจีนประชา เรื่อง "ข้อควรทราบเกี่ยวกับหลักพุทธศาสนาระหว่างนิกายต่าง ๆ" (๒๙ ธ.ค.)

๒๔๙๐
ปาฐกถาที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เรื่อง "พุทธธรรมกับเจตนารมณ์แห่งประชาธิปไตย" ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในขณะนั้นเข้าฟังด้วย (๑๑ พ.ย.)
เกิดคณะพุทธนิคมที่เชียงใหม่
ปาฐกถาที่หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "พระพุทธศาสนาจะช่วยพวกเราในปัจจุบันนี้ได้อย่างไร" (๓๑ พ.ค.)
เริ่มแปล "สูตรของเว่ยหล่าง" ลงพุทธสาสนา

๒๔๙๑
โยมมารดาถึงแก่กรรม (๒๔ เม.ย.)
เดินทางขึ้นเชียงใหม่ครั้งแรกเพื่อช่วยให้คำแนะนำแก่กิจการของคณะพุทธนิคมเชียงใหม่ (ก่อนเข้าพรรษา)
ออกตระเวณเทศน์ตามเกาะสมุย เกาะพงัน
ปาฐกถาธรรมที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เรื่อง "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" (๕ มิ.ย.) และเริ่มถูกโจมตีในข้อหาเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์
ออกพรรษา ท่านปัญญานันทะขึ้นไปประจำอยู่ที่เชียงใหม่

๒๔๙๒
ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าองค์การเผยแผ่ประจำภาค ๕ (ภาคใต้ ๑๔ จังหวัด)
ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยา (๓๐ มิ.ย.)

๒๔๙๓
พักสวนชาใกล้หมู่บ้านแก่งปันเต้า อ.เชียวดาว จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา ๒๐ วัน เพื่อเขียน "โบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน" (ม.ค.)
ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ สาขาประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี
เขียนบทความทดลอง เสนอเกี่ยวกับจิตวิทยาแบบพุทธ เรื่อง "ปมเขื่อง"
ตระเวณเทศน์หัวเมืองปักษ์ใต้ กับพระยาอมรฤทธิธำรง (พร้อม ณ ถลาง)
ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานพิธีสวดกระทำน้ำมุรธาภิเษกสำหรับพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ณ วัดพระบรมธาตุไชยา ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอริยนันทมุนี (๔ ธ.ค.)

๒๔๙๔
อบรมข้าราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมและศาล ที่กรุงเทพฯ เรื่อง "ทุกขขัปนูทนกถา" (๒๐ ก.ย.)
มีประกาศในพุทธสาสนาว่าพระยาอนุมานราชธน ส่งหนังสือมาให้ห้องสมุดธรรมทานหลายเล่ม

๒๔๙๕
นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ มาเยี่ยมสวนโมกข์ (ก.พ.)
คณะพุทธนิคม เชียงใหม่ ออกหนังสือพิมพ์ชาวพุทธ เมื่อวันวิสาขบูชา
มีพิธีทอดกฐินครั้งแรกและครั้งเดียวของสวนโมกข์
เขียน "บันทึกเปิดผนึกครบรอบ ๒๐ ปี" ลงในพุทธสาสนา ซึ่งออกรวมเป็นเพียงฉบับเดียวในปีนั้น
เริ่มมีการบรรยายประจำคืนในช่วงพรรษา เพื่ออบรมพระภิกษุสามเณรภายในสวนโมกข์

๒๔๙๖
แสดงธรรมเรื่อง "ศาสนาคือโรงพยาบาลของโลก" ที่โรงพยาบาลสงฆ์ ในโอกาสเปิดตึกสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (๒๑ ก.พ.)
คณะธรรมทานได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็น "ธรรมทานมูลนิธิ" (๒๔ พ.ย.)
มีผู้บริจาคแท่นพิมพ์และเครื่องตัดกระดาาให้ใหม่
มีการฉายสไลด์ในสวนโมกข์ ริเริ่มการเผยแผ่ธรรมโดยการฉายสไลด์

๒๔๙๗
อธิษฐานไม่ออกนอกเขตตลอดพรรษา
พิมพ์หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปลครั้งแรก
ร่วมประชุมและกล่าวปราศรัยในนามตัวแทนคณะสงฆ์ไทย ในงานฉัฏฐสังคายนาที่ประเทศพม่า เรื่อง "ลักษณะน่าอัศจรรย์บางประการของพุทธศาสนาแบบเถรวาท" (๖ ธ.ค.)
เขียน "โลกอาจรอดได้ แม้เพราะกตัญญู" (๘ มี.ค.) เป็นบทความที่เด่นบทหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงโลกทัศน์แบบพุทธที่มีลักษณะนิเวศวิทยาอยู่ในตัว

๒๔๙๘
อบรมข้าราชการตุลาการครั้งแรก เรื่อง "ใจความสำคัญของพุทธศาสนา" ณ ห้องบรรยายเนติบัณฑิตยสภา ต่อมาพิมพ์เป็นเล่มชื่อหลักพระพุทธศาสนา และพิมพ์ในชุดธรรมโฆษณ์ ชื่อ "ตุลาการิกธรรม เล่ม ๑" การบรรยายชุดนี้ทำต่อเนื่องมาอีกรวม ๑๔ ครั้ง

๒๕๐๐
แสดงธรรมที่โรงพยาบาลสงฆ์ เรื่อง "ธรรมะคือโอสถสำหรับโลก" (ก.พ.)
เทศน์ในโอกาส ๒๕ พุทธศตวรรษ เรื่อง "หนทางดับความเลวร้ายในยุคปัจจุบัน" ที่วัดพระบรมธาตุไชยา
คณะพุทธนิคมเชียงใหม่ตั้งชาวพุทธมูลนิธิ
ในพรรษาบรรยาย "การศึกษาธรรมะอย่างถูกวิธี" หรือ "ธรรมวิภาคนวกภูมิ" ต่อมากลายเป็นหนังสือพื้นฐานที่สำคัญอีกเล่มหนึ่งของสวนโมกข์
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชชัยกวี

๒๕๐๑
ตั้งสำนักปฏิบัติธรรม "สวนอุศม" และ "สวนอุศมมูลนิธิ" ที่กรุงเทพฯ เป็นอีกองค์กรหนึ่งในเครือข่ายของสวนโมกข์
ทางราชการประกาศให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนา สอดคล้องกับที่สวนโมกข์ทำมาก่อน
ไปเขมร ชม นครวัด นครธม

๒๕๐๒
กรมศิลปากรส่งศิลาจารึกจำลองทุกหลักที่ทำจากไชยามาถวาย
ท่านปัญญานันทะลงมาจำพรรษาที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์
เจ้าชื่น สิโรรส หัวหน้าคณะพุทธนิคมและบุตรลงมาอยู่ที่สวนโมกข์ในระหว่างช่วงเข้าพรรษา
สถานีวิทยุ ปชส.๗ ธนบุรี นำ "หลักพระพุทธศาสนา" ที่อบรมข้าราชการตุลาการครั้งแรก ไปอ่านออกอากาศเป็นประจำทุกวัน เวลา ๐๖.๓๐ น. ในระหว่างช่วงเข้าพรรษา
พิมพ์อริยสัจจากพระโอษฐ์ ครั้งแรก
บรรยาย "อานาปานสติ" (ฉบับสมบูรณ์) ในระหว่างพรรษาในสวนโมกข์

๒๕๐๓
โรงเรียนพุทธนิคมเปิดชั้นเตรียมอุดมศึกษา
แสดงธรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "ส่วนสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ทุกคนควรรู้จัก" ตามคำอาราธนาของสมเด็จพระราชชนนี องค์อุปถัมภกของชมรมกลุ่มศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้ฟังประมาณ ๓,๐๐๐ คน (๒๘ ธ.ค.)

๒๕๐๔
ในพรรษาพูดเรื่อง "ตัวกู-ของกู" อบรมพระสงฆ์สามเณร
ร่วมสัมมนาเรื่อง "การศึกษาพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (๒๖ พ.ย. - ๒๒ ธ.ค.) และแสดงธรรมอบรมนิสิต รวม ๗ ครั้ง

๒๕๐๕
เริ่มสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ (โรงหนังแบบสวนโมกข์) และมีโรงปั้นเพื่อปั้นภาพพุทธประวัติยุคแรกของโลก ทั้ง ๒ อย่างนี้ใช้เวลาราว ๑๐ ปี จึงเสร็จ

๒๕๐๖
อภิปรายแบบธรรมสากัจฉา กับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ครั้งแรก ในหัวข้อ "การทำงานคือการปฎิบัติธรรม" มีนายปุ๋ย โรจนบุรานนท์ และ นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ร่วมด้วย ที่หอประชุมคุรุสภา (๖ ธ.ค.)
๒๕๐๗

อภิปรายแบบธรรมสากัจฉา (ที่กลายเป็นวิวาทะ) กับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ครั้งที่ ๒ และครั้งสุดท้าย ที่หอประชุมคุรุสภา เรื่อง "การทำงานด้วยจิตว่าง" (๑๓ ก.พ.)

๒๕๐๘
ปาฐกถาธรรมเรื่อง "สิ่งที่เรายังเข้าใจผิดกันอยู่" ที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ (๒๑ ม.ค.)
ปาฐกถาธรรมเรื่อง "การส่งเสริมจริยธรรมแก่เด็กวัยรุ่น" ในที่ประชุมสามัญประจำปี ที่คุรุสภา (๒๗ เม.ย.)

๒๕๐๙
เริ่มมีงานล้ออายุ ครั้งแรก (๒๗ พ.ค.)
ปาฐกถาธรรมเรื่อง "สิ่งที่เรายังสนใจกันน้อยเกินไป" ในที่ประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ณ พุทธสถานเชียงใหม่ (๘ พ.ย.)
ปาฐกถาธรรมเรื่อง "ผีหัวเราะเยาะมนุษย์" แก่ผู้ร่วมประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศครั้งที่ ๑๐ ยอดเขาพุทธทอง สวนโมกข์ (๑๔ พ.ย.)

๒๕๑๐
เป็นประธานในการอบรมพระธรรมทูตรุ่นแรกที่จะไปเผยแผ่พระศาสนาในต่างประเทศ
ปาฐกถา "คริสตธรรม-พุทธธรรม" ณ วิทยาลัยพระคริสตธรรม เชียงใหม่
ในพรรษา เริ่มบรรยายชุด "ธรรมปาฏิโมกข์" แก่พระสงฆ์สามเณรภายในสวนโมกข์ (กระทำต่อเนื่องทุกพรรษาถึง พ.ศ. ๒๕๑๔)

๒๕๑๑
เป็นประธานในการประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วประเทศ ครั้งที่ ๑๖ ณ ค่ายลูกเสือธรรมบุตร ติดกับสวนโมกข์ (๑ ธ.ค.)
พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ "สหายธรรมหมายเลขหนึ่ง" ถึงแก่อนิจกรรม (๑๙ เม.ย.) มอบทุน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้ธรรมทานมูลนิธิ
เริ่มโครงการพิมพ์หนังสือชุดธรรมโฆษณ์

๒๕๑๒
บรรยายชุด "บรมธรรม" แก่ พระนิสิตภาคฤดูร้อน

๒๕๑๔
เริ่มบรรยายธรรมประจำวันเสาร์และทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระเทพวิสุทธิเมธี" (๕ ธ.ค.)
เขียน "บันทึกคำชี้แจงเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาท" (๓๐ ก.ย.)

๒๕๑๕
บรรยายชุด "แก่นพุทธศาสน์" ที่โรงพยาบาลศิริราช
บรรยายชุด "สอนพุทธศาสนาผ่านคัมภีร์ไบเบิล" ในสวนโมกข์
๒๕๑๖

บรรยายเรื่อง "มหาวิทยาลัยกับความรู้เรื่องจิต" แก่อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มาสวนโมกข์ (๓๐ ส.ค.)
เขียนบทความขนาดยาว "สมเด็จในความรู้สึกของข้าพเจ้า" ตามคำขอของพระดุลยพากย์สุวมัณฑ์ เพื่อพิมพ์ในหนังสือครบรอบ ๑๐๐ ปี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร)
บรรยายเรื่อง "ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม" ในสวนโมกข์ (๑๑ พ.ย.)
อาพาธ ขณะกำลังเทศน์และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช (ธ.ค.)

๒๕๑๗
บรรยายเรื่อง "มหิดลธรรม" แก่พระนักศึกษาภาคฤดูร้อน
บรรยายเรื่อง "สังคมนิยมตามหลักแห่งพระศาสนา" (๑๕ ก.ย.)

๒๕๑๘
บรรยายชุด "โมกขธรรมประยุกต์" สำหรับพระนักศึกษาภาคฤดูร้อน
บรรยายเรื่อง "พระพุทธเจ้ามีอุดมคติเป็นสังคมนิยม"
บรรยายเรื่อง "สังคมนิยมชนิดที่ช่วยโลกได้" (๒๗ พ.ค. ๑๘)

๒๕๒๑
เริ่มปาฐกถาธรรมทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ทุกวันอาทิตย์ที่ ๓ ของเดือน

๒๕๒๒
บรรยายชุด "ใจความแห่งคริสตธรรม เท่าที่พุทธบริษัทควรทราบ"
ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพุทธศาสตร์ จากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

๒๕๒๕
สวนโมกข์อายุครบ ๕๐ ปี พิมพ์แถลงการณ์ ๕๐ ปี สวนโมกข์
พิมพ์กฎบัตรของพุทธบริษัท ในวันวิสาขบูชา

๒๕๒๗
พิมพ์อริยสัจจากพระโอษฐ์ ฉบับสมบูรณ์

๒๕๒๘
อาพาธค่อนข้างหนักตั้งแต่ต้นปี

๒๕๒๙
ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาอักษรศาสตร์ (ศาสนาและปรัชญา) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

จาก อัตชีวประวัติของท่านพุทธทาส "เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา"
หน้า ๖๙๓–๗๐๘

ย้อนกลับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม