วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ท่านติช นัท ฮันห์ กับมิติใหม่ของพุทธศาสนา โดย พระไพศาล วิสาโล



ท่านติช นัท ฮันห์ กับมิติใหม่ของพุทธศาสนา 
โดย พระไพศาล วิสาโล 

นอกจากองค์ทะไล ลามะ แล้ว ท่านติช นัท ฮันห์ เป็นภิกษุอีกรูปหนึ่งที่นิตยสารไทม์เมื่อเร็วๆ นี้ ยกย่องให้เป็น “hero” หรือผู้มีผลงานอันโดดเด่นและเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนทั้งโลก หนังสือหลายเล่มของท่านติดอันดับหนังสือขายดีทั้งในยุโรปและอเมริกา ทุกหนแห่งที่ท่านไปบรรยายจะมีผู้ฟังแน่นขนัดแม้ต้องเสียค่าผ่านประตูก็ตาม ยิ่งที่หมู่บ้านพลัมอันเป็นสำนักของท่านในประเทศฝรั่งเศส ทุกปีจะมีผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมประจำฤดูร้อนนับพันคนในคราวเดียวกัน คนเหล่านี้มาจากแทบทุกทวีปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่แอฟริกาและอเมริกาใต้ 

คำสอนของท่านนำความสงบเย็นและหว่านความรักลงไปในจิตใจของผู้คนนับล้าน แต่น้อยคนจะตระหนักว่าความสงบเย็นและความรักที่ออกมาจากหัวใจของท่านนั้น มิได้ก่อเกิดจากการนั่งภาวนาในป่าอันสงบสงัดเท่านั้น หากยังกลั่นออกมาจากความทุกข์ยากแสนสาหัสท่ามกลางเพลิงสงครามอันยาวนาน 

สงครามเวียดนามได้สังหารญาติมิตรศิษย์หาและเพื่อนร่วมชาติของท่านเป็นจำนวนมาก แต่กลับทำให้ท่านมั่นคงยิ่งขึ้นในเมตตากรุณาแม้กระทั่งกับผู้ปลิดชีวิตบุคคลที่ท่านรัก ท่ามกลางการตอบโต้ด้วยความอาฆาตพยาบาท ท่านเรียกร้องการให้อภัย ขณะเดียวกันก็อุทิศตนเพื่อนำสันติภาพกลับคืนมา ท่านเคยกล่าวถึงประเทศเวียดนามของท่านว่า เปรียบเสมือน “ดอกบัวกลางทะเลเพลิง” ชีวิตของท่านจะว่าไปแล้วไม่ได้ผิดไปจากอุปมาดังกล่าวเลย 

หากจีนไม่รุกรานทิเบต โลกก็คงไม่รู้จักองค์ทะไล ลามะ ในทำนองเดียวกันหากรัฐบาลเวียดนามใต้ไม่ปิดประตูผลักไสให้ท่านกลายเป็นผู้ลี้ภัย โลกก็คงไม่มีโอกาสดื่มด่ำสัมผัสธรรมของท่านนัท ฮันห์ อย่างแพร่หลายเช่นทุกวันนี้ เมื่อท่านไม่อาจเข้าประเทศเวียดนามได้หลังจากการไปรณรงค์เรียกร้องสันติภาพที่สหรัฐอเมริกา อเมริกาและยุโรปจึงเปรียบเสมือนบ้านของท่านตลอด 39 ปีที่ผ่านมา หนังสือและคำสอนที่สำคัญของท่านส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ยิ่งท่านมาตั้งสำนักที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส สังฆะของท่านก็หยั่งรากลึกและเติบใหญ่จนกลายเป็นพลังที่สำคัญในทางศาสนธรรมและสันติภาพ ขณะเดียวกันก็สร้างมิติใหม่ให้แก่พระพุทธศาสนาทั้งในระดับโลกและสำหรับเวียดนามเอง 



ท่านติช นัท ฮันห์ 

ท่านนัท ฮันห์ เป็นหนึ่งในบุคคลผู้ริเริ่มนำพุทธศาสนาออกมาสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่อย่างมีพลัง ในยามที่บ้านเมืองเกิดศึกสงคราม ท่านเห็นว่าจุดยืนของพุทธศาสนามิได้อยู่ที่การสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จับอาวุธห้ำหั่นกัน หากอยู่ที่การเสนอทางออกอย่างสันติ โดยมีความเมตตาต่อทั้งสองฝ่าย แม้นั่นจะหมายถึงการถูกเข้าใจผิดจากทุกฝ่ายก็ตาม และในขณะที่ผู้คนกำลังเดือดร้อนจากภัยสงครามและความยากจน ชาวพุทธไม่ควรเอาแต่นั่งภาวนาหรือแผ่เมตตาอยู่ในมุ้ง หากควรออกไปช่วยเหลือคนเหล่านั้น โดยพร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขา แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กับปฏิบัติการทางสังคม ก็คือการเจริญสมาธิภาวนา เพื่อให้จิตบังเกิดความสงบ มีสติ เปี่ยมด้วยกรุณาและมีปัญญากระจ่างแจ้ง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดทั้งประโยชน์ท่านและประโยชน์ตนอย่างแท้จริง 

นอกจากการนำพุทธศาสนามาสัมพันธ์กับสังคมแล้ว ท่านนัท ฮันห์ ยังเห็นว่า พุทธศาสนามิอาจแยกจากชีวิตได้ การปฏิบัติธรรมมิได้หมายถึงการปลีกตัวออกจากกิจวัตรประจำวัน หากควรผสานให้กลมกลืนกับทุกอิริยาบถ ไม่ว่าการกิน การดื่ม การทำงาน ล้วนเป็นโอกาสแห่งการเจริญสมาธิภาวนาทั้งสิ้น พุทธศาสนาที่สัมพันธ์กับชีวิตและสังคมอย่างแนบแน่นดังกล่าว ท่านนัท ฮันห์ เรียกว่า Engaged Buddhism ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน 

เสน่ห์แห่งคำสอนของท่านนัท ฮันห์ อยู่ที่การประยุกต์ธรรมให้สมสมัย โดยอิงอาศัยหลักไตรสิกขา กล่าวคือศีล สมาธิ ปัญญา แทนที่ศีลจะจำกัดอยู่แค่ศีล 5 ในขอบเขตแคบๆ อย่างที่เราคุ้นเคย ท่านได้ขยายศีล 5 ให้มีความหมายกว้างขึ้นเพื่อให้เหมาะกับสังคมสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนแยบยลสูงจนผู้คนสามารถเบียดเบียนกันได้แม้จะไม่เห็นตัวกัน 

เช่น ศีลข้อที่ 1 อันได้แก่ปาณาติบาต ท่านได้ขยายความว่าหมายถึง “การตั้งจิตมั่นที่จะไม่ทำลายชีวิต ไม่ปล่อยให้ผู้อื่นทำลายชีวิต รวมทั้งจะไม่ส่งเสริมการทำลายชีวิตใดๆ ในโลกนี้ โดยทั้งความคิดและในทางการปฏิบัติ” ในแง่นี้การสนับสนุนนโยบายฆ่าตัดตอนผู้ค้ายาเสพติด หรือการบริโภคที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมทารุณสัตว์ ก็เท่ากับผิดศีลข้อที่ 1 ด้วย 

ในด้านสมาธิ ท่านเห็นว่าหัวใจสำคัญของสมาธิภาวนา คือการเจริญสติ เพราะสตินำไปสู่ความตื่นรู้ และความตื่นรู้นั้นมิได้จำกัดอยู่แค่การรู้กายและใจของตนเท่านั้น หากยังรู้ความเป็นไปของสิ่งรอบตัว รวมทั้งรู้ถึงความทุกข์ยากของผู้คนด้วย แต่ขณะเดียวกันจะต้องไม่ปล่อยให้ความทุกข์ของผู้อื่นท่วมท้นจิต จนตนเองกลายเป็นผู้ทุกข์ไปด้วยอีกคน 

เราจะต้องรักษาจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ โดยมีสติเข้าไปรับรู้ความเศร้าโศก ความโกรธ ความเกลียด และแปรให้เป็นความสงบและความรัก การตื่นอยู่เสมอด้วยสตินั้นเป็นปาฏิหาริย์ในตัวเอง ดังหนังสือเรื่อง ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ของท่านเป็นคู่มือนำทางให้แก่เราได้เป็นอย่างดี โดยที่ต้องไม่ลืมว่าหนังสือเล่มนี้ท่านเขียนในขณะที่สงครามเวียดนามกำลังมาถึงจุดแตกหัก แม้ท่านจะห่วงใยกับสถานการณ์ดังกล่าวเพียงใด แต่ท่านก็สงบนิ่งพอที่จะเขียนหนังสืออันมีคุณค่าลุ่มลึกทางจิตใจได้ 

ท่านนัท ฮันห์ ยังเป็นผู้ฉลาดในการนำพาให้เราเห็นโลกด้วยปัญญา กล่าวคือไปพ้นจากความหลงแห่งทวิภาวะที่มองสิ่งต่างๆ แยกออกเป็นขั้วๆ ท่านชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่มองเห็นเป็นขั้วนั้นแท้จริงเป็นอีกด้านของเหรียญเดียวกัน ไม่ว่า ได้-เสีย มา-ไป เกิด-ตาย เรา-ผู้อื่น ขยะ-ดอกไม้ เหยื่อ-อาชญากร ทั้งหมดนี้ไม่ได้แยกจากกัน คนที่เป็นอาชญากรนั้นก็เคยเป็นเหยื่อมาก่อน เช่นเดียวกับขยะซึ่งในอดีตเคยเป็นดอกไม้ และในอนาคตก็จะกลายเป็นดอกไม้อีก ในโลกแห่งความเป็นจริง ทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กันและเป็นเหตุปัจจัยให้แก่กันและกัน (ดังท่านเรียกว่า “เป็นดั่งกันและกัน” หรือ interbeing) 

เมฆกับกระดาษ เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ไม่มีเมฆ ไม่มีฝน ก็ไม่มีต้นไม้ และไม่มีกระดาษ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงย้ำให้เรามองกระดาษจนเห็นก้อนเมฆ ดวงอาทิตย์ และคนตัดไม้ กล่าวอีกนัยหนึ่งกระดาษนั้นไม่มีตัวตนของมันเอง หากเกิดขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่ใช่กระดาษ เช่นเดียวกับร่างกายของเราล้วนเกิดขึ้นจากธาตุหรือสารต่างๆ ที่ไม่ใช่ตัวเรา เช่น คาร์บอน แคลเซียม เหล็ก ฯลฯ ด้วยคำสอนง่ายๆ ที่ฝึกให้เรามองสิ่งต่างๆ อย่างเพ่งพินิจ ท่านได้พาให้เราเข้าใจความจริงอันลึกซึ้งอันได้แก่อนัตตา คือความไม่มีตัวตน 

คุณูปการสำคัญอีกประการหนึ่งของท่านนัท ฮันห์ ที่ควรกล่าวย้ำในที่นี้ก็คือ การตั้งสังฆะที่สมสมัย ท่านตระหนักดีว่าพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ จำต้องมีสังฆะที่เข้มแข็ง แต่แทนที่สังฆะจะหมายถึงผู้บวชที่ถือเพศพรหมจรรย์เท่านั้น ท่านได้ขยายสังฆะให้คลุมไปถึงอุบาสกและอุบาสิกา ขณะเดียวกันในฝ่ายผู้บวช ก็มิได้มีแต่ภิกษุเท่านั้น หากยังมีภิกษุณีอีกด้วย โดยมีสิกขาบทที่ปรับปรุงให้เหมาะกับสังคมสมัยใหม่อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการทวนกระแสบริโภคนิยม ซึ่งกำลังเป็นตัวกัดกร่อนบั่นทอนชีวิตจิตใจของนักบวชและผู้ใฝ่ธรรมทั่วโลก ขณะเดียวกันท่านยังได้คิดค้นพิธีกรรมใหม่ๆ ที่สื่อธรรมอย่างน่าประทับใจ ควบคู่ไปกับการสร้างสามัคคีธรรมในหมู่สังฆะเพื่อเป็นชุมชนกัลยาณมิตรอย่างแท้จริง 

นิมิตดีก็คือในเดือนพฤษภาคมนี้ ท่านนัท ฮันห์ และสังฆะของท่านจะมาเยือนประเทศไทย (หลังจากที่เคยมาครั้งล่าสุดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว) นอกจากการบรรยายแล้ว ท่านยังจะนำการปฏิบัติเพื่อความตื่นรู้ในปัจจุบันอันประเสริฐสุด นี้เป็นโอกาสดีที่หาได้ยากสำหรับชาวไทย (และผู้สนใจจากประเทศเพื่อนบ้าน) ที่จะได้ฟังธรรมจากท่าน ซึ่งเป็นการผสานมหายาน (โดยเฉพาะเซน) กับเถรวาท ได้อย่างลุ่มลึกและสื่อตรงกับคนสมัยใหม่ได้อย่างถึงแก่น 

ด้วยวัย 80 ปีและกิจนิมนต์ที่ได้รับจากทั่วโลก ไม่ง่ายเลยที่ท่านจะกลับมาเยือนเมืองไทยอีกหลังเดือนพฤษภาคมนี้ ผู้สนใจโปรดสอบถามรายละเอียดการบรรยายและการปฏิบัติธรรมได้จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลวิสาขบูชาแห่งโลก 

............................................................ 
หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6 
คอลัมน์ มองอย่างพุทธ โดย พระไพศาล วิสาโล 
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10578

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม