วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หาสุขได้..จากทุกข์ ปาฐกถาธรรมโดยท่านพุทธทาส


ธรรมะของท่านพุทธทาส 
หาสุขได้..จากทุกข์ 
โดย พุทธทาสภิกขุ 
(พระธรรมเทศนา ประจำคืนในพรรษา ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๑๔)
หาความสุขได้.. จากสิ่งที่เป็นทุกข์

     สำหรับในวันนี้ จะได้แสดงด้วยข้อธรรมะข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นพระพุทธภาษิตว่า ผู้มีปัญญาย่อมแสวงหาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นทุกข์ ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนจงตั้งจิตอธิษฐาน ในการที่ว่าจะประพฤติปฏิบัติ ให้ตลอดพรรษานี้โดยหัวข้อที่ว่า จะแสวงหาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นทุกข์

      ท่านทั้งหลายจงฟังดูให้ดี ถ้าฟังดูไม่ดี ก็จะไม่เห็นด้วย ในข้อที่ว่า เราจะแสวงหาความสุข จากสิ่งที่เป็นทุกข์ คนโง่ก็เห็นว่า เมื่อเป็นทุกข์เสียแล้ว ก็ไม่มีทางแก้ไข หรือความสุขกับความทุกข์นี้ จะเอามาใช้แทนกันไม่ได้ แต่ผู้มีปัญญาหาเป็นอย่างนั้นไม่ สามารถแสวงหาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นทุกข์

      นี้มันก็เป็นหนทางที่ดี หรือดีมากทีเดียว เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่จะช่วยให้มีความทุกข์น้อยเข้า หรือถึงกับไม่มีความทุกข์เลย แต่ถ้าฟังไม่ถูก มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร และคงจะคิดเสียว่า มันเป็นสิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะว่าคนโง่ทั้งหลาย ย่อมหวังในสิ่งที่หวังไม่ได้ หรือ ไม่ควรหวัง

      ยกตัวอย่างเช่นว่า คราวหนึ่งได้พูด ได้เทศน์ ได้พิมพ์โฆษณา เรื่องซึ่งมีหัวข้อว่า ความเจ็บไข้มาสอนให้เราเป็นคนฉลาด ความเจ็บ ความไข้ เกิดขึ้นแก่เราเพื่อมาสอนเราให้เป็นคนฉลาด คนที่ไม่เข้าใจก็ล้อว่า เขาไม่ต้องการความเจ็บไข้เขาต้องการลาภอย่างยิ่ง ที่เกิดมาจากความไม่เจ็บไม่ไข้ อ้างพระพุทธภาษิตขึ้นมาว่า อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นยอดแห่งลาภ นี้คือคนโง่ใครบ้างที่ว่า อยู่ในโลกนี้แล้วจะไม่เจ็บไม่ไข้

      นี้ปัญหามันก็มีว่า เมื่อความเจ็บไข้เกิดขึ้นแล้ว จะต้องทำอย่างไรจะต้องมาเสียใจ มานั่งบ่น นั่งเพ้อว่าเป็นกรรม เป็นเวร เป็นบาป มาถึงเข้าแล้วบางคนก็ร้องไห้กระสับกระส่าย อย่างนี้เรียกว่า คนโง่ เพราะไม่รู้จักต้อนรับ

     ฉะนั้นเมื่อ เจ็บไข้ทีไร ต้องรู้จักถือเอาความฉลาดรู้จักพิจารณา และรู้จักสลัดออกไป ด้วยสติปัญญา เหมือนกับว่าเป็นการ ฝึกหัดจิตใจให้เข้มแข็งให้ความทุกข์เพียงเท่านี้ครอบงำไม่ได้ เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งความทุกข์ชนิดไหน ก็ครอบงำไม่ได้ เมื่อเราคิดเสียอย่างนี้ ความเจ็บไข้มันก็พ่ายแพ้ไป แม้ว่าความเจ็บไข้นั้นมันจะหนักมาก ถึงกับจะต้องตาย ก็ยังมีทางที่จะคิดได้ว่าสังขารมันเป็นอย่างนี้เอง ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสังขารทั้งหลายมันเป็นอย่างนี้เอง ถ้าฉลาดถึงขนาดนี้แล้ว ความทุกข์หรือเจ็บไข้หรือความตายชนิดไหนก็ไม่มาทำให้เดือดร้อนได้หรือถึงกับหัวเราะเยาะได้ นี้เป็นหลักสำหรับพุทธบริษัทจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการที่จะเอาชนะความทุกข์

ความเป็นทุกข์ของสังขาร

     ทีนี้ก็ย้อนกลับไปหาหัวข้อข้างต้นที่ว่า รู้จักแสวงหาความสุขจากสิ่งที่เป็นทุกข์ หัวข้อนี้มีทางที่จะอธิบายได้มากมายหลายระดับ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ เรื่องความเป็นทุกข์ของสังขาร ในบทที่ว่า สัพเพ สังขารา ทุกขา-สังขาร คือสิ่งที่มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่งทั้งปวงทุกชนิด เป็นทุกข์ หรือว่า เบญจขันธ์อันเป็นที่ตั้งของอุปทานนี้ เป็นความทุกข์ แปลว่า ตัวชีวิตนั้นมันเป็นความทุกข์อยู่ตามธรรมชาติ

      ทีนี้เรา จะแสวงหาความสุข จากสิ่งที่เป็นทุกข์นี้ได้อย่างไร? สติปัญญาของคนธรรมดาคงจะทำไม่ได้จึงต้อง อาศัยสติปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สติปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีมากพอ ที่จะทำให้สามารถแสวง หาความสุขจากสิ่งที่เป็นทุกข์ เพราะสติปัญญาอันสูงสุดอย่างนี้เองพระองค์จึงได้นามว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ขอให้เราทุกคนลองพยายามคิดนึกศึกษาตามที่พระองค์ทรงสอนไว้

      ก็ร่างกายจิตใจชีวิตนี้ เมื่อปล่อยไปตามเรื่องตามราวของคนที่ไม่มีความรู้มันก็เป็นทุกข์ แต่ถ้ามีปัญญาก็สามารถที่จะพิจารณา เสาะหาเอาแต่แง่มุมที่จะไม่ต้องเป็นทุกข์ ลองว่ามา ดูว่ามันมีอะไรบ้าง?

      ความเกิดเป็นทุกข์ เราจะทำอย่างไร? เราก็ต้อง ศึกษาเรื่องความเกิด ถ้าไม่มีความเกิด เราก็ไม่มีอะไรจะศึกษา ฉะนั้นต้องมีความเกิดมาให้เรา สำหรับเป็นวัตถุแห่งการศึกษา เมื่อเรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเกิดนี้อย่างถูกต้องแล้ว ก็สามารถจะทำให้ความเกิดนั้นหยุดเป็นทุกข์ หรือถึงกับไม่มีความเกิดเอาเสียทีเดียว

      ศึกษาจนรู้ว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา อย่างนั้นอย่างนี้มีแต่สักว่าธรรมชาติล้วนๆ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป เราได้ความรู้ความเข้าใจถึงขนาดนี้แล้ว ความเกิดก็หมดความเป็นทุกข์แล้วก็ให้สิ่งที่ตรงกันข้ามคือ ความไม่เป็นทุกข์หรือความสุข

      มาถึงความแก่ชรา จะเป็นความแก่ชราอย่างไหนก็ตามใจ ถ้ามีปัญญาพอตัว ก็ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับศึกษาเป็นบทเรียนสำหรับศึกษา ให้รู้ว่า ควมแก่มันเป็นอย่างนี้เอง มันก็มาสอนให้เราฉลาดด้วยเหมือนกันอย่างน้อยก็ให้รู้ว่า สังขารทั้งหลายมันเป็นอย่างนี้ ก็หัวเราะเยาะได้ ฯลฯ

      ความเจ็บไข้ก็อย่างเดียวกันอีก คืออย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นตัวอย่างนั้น เจ็บไข้ทุกทีก็ย่อมจะฉลาดขึ้นทุกที แต่ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ เจ็บไข้ทุกทีก็ยิ่งโง่เข้าทุกที ยิ่งทุกข์ง่าย มีความทุกข์ง่ายขึ้นทุกที จนหมดกำลังใจที่จะต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของสังขารทั้งหลาย

      ทีนี้ก็มาถึง ความตาย ความตายนี้ เป็นความทุกข์ขึ้นมา ก็เพราะว่าทุกคนยึดมั่นถือมั่น ว่าความตายนี้ของเรา ความตายยังไม่ทันมาถึง ก็มีทุกข์เหลือประมาณ

      โดยมากคนเรามีความทุกข์ เพราะสิ่งที่ยังไม่มาถึง แทบจะทั้งนั้นหมายความว่าคิดเอาเอง หวั่นวิตกเอาเอง ยึดมั่นถือมั่นเอาเอง เป็นทุกข์มากมายมหาศาล จากสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น พอถึงคราวที่ตายเข้าจริงๆ หามีเวลาที่จะไปคิดนึกมากอย่างนั้นไม่ มีปัญหาเรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นปีๆ ล่วงหน้าถึงเวลาจะตายเข้าจริง ไม่กี่นาทีก็ตายได้ ฯลฯ

      นี้คือวิธีที่จะทำให้โลกนี้ ไม่มีอะไรที่จะเป็นทุกข์แก่บุคคล ผู้มีสติปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเป็นเครื่องคุ้มครอง

      ทั้งหมดนี้ ตามที่กล่าวมานี้ เป็นหลักใหญ่ๆ ในพระพุทธศาสนา เมื่อพูดถึง ความทุกข์ ก็หมายถึง ความทุกข์ ที่เกิดมาจากเบญจขันธ์ ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน เราเป็นผู้รู้จักเข็ด รู้จักหลาบ รู้จักสังเกต เป็นทุกข์ทุกที ก็ฉลาดขึ้นทุกที ไม่ใช่เป็นทุกข์ทุกที ยิ่งโง่เข้าทุกที ยิ่งท้อถอย ยิ่งหมดกำลังใจเข้าทุกทีมีความทุกข์ทีไร ก็จะต้องถือเอากำไรให้ได้จากความทุกข์นั้น ถ้ามันทุกข์มากก็จะถือเอาความรู้ให้ได้มาก คือ ให้มีกำไรมาก แล้วแต่ว่าความทุกข์นั้นมันจะมีมาในลักษณะไหน หรือขนาดไหน ยิ่งทุกข์มาก ยิ่งดี จะได้รู้ความจริงเกี่ยวกับข้อนี้มาก

      เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ไม่เท่าไรก็จะไม่มีอะไรที่จะเป็นความทุกข์ ความทุกข์เข้ามา แปลงให้เป็นความสุขไปเสียได้เป็นคาถาอาคมอะไรชนิดหนึ่ง ซึ่งประเสริฐที่สุดสำหรับมนุษย์ คือสามารถที่จะเอาชนะความทุกข์ทุกอย่างได้ ให้กลายเป็นความรู้บ้าง ให้กลายเป็นความสามารถบ้าง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม