วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คำสอนว่าด้วยรัก :ท่าน ติช นัท ฮันห์ 5 (จบ)


คำสอนว่าด้วยรัก :ท่าน ติช นัท ฮันห์     

อุเบกขา

องค์ประกอบที่สี่ของความรักที่แท้คืออุเบกขา อันหมายถึงการไม่ยินดียินร้าย ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่วินิจฉัย การวางเฉย หรือปล่อยให้เป็นไป ดังเช่นยามเธอปีนขึ้นภูผา ก็จะมองเห็นทุกทิศทาง ไม่ได้ถูกปิดกั้นโดยด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าความรักของเธอมีความยึดมั่นถือมั่น ลำเอียงมีอคติหรือผูกติดแล้ว นั่นย่อมไม่ใช่ความรักที่แท้ บางครั้งคนที่ไม่เข้าใจพุทธศาสนาจะคิดว่าอุเบกขาหมายถึงการไม่สนใจใยดี ทว่าการวางเฉยที่แท้ไม่ใช่ความเย็นชา หรือการไม่สนใจใยดี ถ้าเธอมีลูกมากกว่าหนึ่งคนทุกคนก็ย่อมจะเป็นลูกของเธอ อุเบกขาไม่ได้หมายความถึงการไม่รัก แต่เธอจะรักในแบบที่ลูก ๆ ทุกคนได้รับความรัก โดยปราศจากความลำเอียงจากเธอ

อุเบกขาย่อมแสดงถึง “สมตชฺญาณ” หรือการรู้แจ้งในความมีตนเสมอ สามารถมองทุกคนได้อย่างเท่าเทียม ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างตัวเองกับคนอื่น เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น แม้เราจะรู้สึกกังวลอยู่ลึก ๆ แต่เราก็จะไม่ลำเอียง ยังสามารถที่จะรักและเข้าใจทั้งสองฝ่ายได้ เราจะขจัดความลำเอียงและอคติทั้งหลาย ตลอดจนข้อจำกัดระหว่างตัวเรากับตัวเขาออกไป ตราบใดที่เรามองตัวเองในฐานะของผู้รัก และคนอื่นในฐานะผู้ที่ถูกรัก ตราบใดที่เราประเมินตัวเองสูงกว่าคนอื่น หรือมองตัวเองต่างไปจากผู้อื่นแล้ว ก็ย่อมไม่มีอุเบกขาอย่างแท้จริงเกิดขึ้น เราต้องหลอมตัวเอง “ลงไปในเนื้อหนังของผู้อื่น” แล้วกลายเป็นหนึ่งเดียวกับคนผู้นั้น หากเราปรารถนาที่จะเข้าใจและรักเขาอย่างแท้จริง เช่นนั้นแล้วก็จะไม่มี “ตัวเรา” และ “ตัวเขา”

หากไม่มีอุเบกขา ความรักของเธออาจเป็นแบบครอบครอง สายลมยามฤดูร้อนอาจแช่มชื่น แต่ถ้าเราพยายามเอามันอัดใส่กระป๋องให้เป็นของเราแล้ว สายลมก็จะไม่มีชีวิต คนที่เรารักก็เช่นเดียวกัน เขาเป็นเหมือนกับเมฆหมอก สายลม ดอกไม้ หากเธอนำไปกักขังใส่ไว้ในกระป๋อง เขาก็จะตาย แต่กระนั้นก็ยังมีคนมากมายกระทำเช่นว่านี้ พวกเขาขโมยเอาสิทธิเสรีภาพของคนที่รักไป กระทั่งเขาสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง พวกเขามีชีวิตอยู่เพื่อสร้างความพอใจให้กับตัวเองและใช้คนที่ตนรักเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุถึงสิ่งนั้น นี่ไม่ใช่ความรักหากแต่เป็นการทำลาย เธอบอกว่ารักเขา แต่ถ้าเธอไม่เข้าใจถึงความปรารถนา ความต้องการ ความยากลำบากของคนที่รักแล้ว เขาก็ย่อมตกอยู่ในกรงขังที่มีชื่อว่าความรัก ความรักที่แท้จะต้องให้ตัวเธอและคนที่เธอรักยังคงมีอิสรภาพ นั่นก็คืออุเบกขา

ความรักที่แท้จริงนั้นต้องเจือด้วยความกรุณา มุทิตา และอุเบกขา ความกรุณาที่แท้ก็ต้องมีความรักความเมตตา มุทิตาและอุเบกขา มุทิตาที่แท้ก็ต้องกอปรไปด้วยความรักความเมตตา กรุณา และอุเบกขา ส่วนอุเบกขาที่แท้ก็ต้องมีความรัก ความเมตตา กรุณา และมุทิตาอยู่ร่วมกัน ทั้งหมดนี้คือภาวะที่ดำรงอยู่อย่างอิงอาศัยกันของพรหมวิหารสี่ เมื่อพระพุทธองค์ทรงบอกให้พราหมณ์ดำเนินไปบนเส้นทางของพรหมวิหารสี่ท่านก็ได้ประทานคำสอนที่สำคัญยิ่งแก่พวกเราทุกคนด้วย แต่เราต้องพินิจพิจารณาและปฏิบัติ เพื่อนำพาองค์คุณทั้งสี่แห่งความรักมาสู่ชีวิตตัวเอง รวมถึงชีวิตคนที่เรารักด้วย

คัดลอกจาก : http://www.oknation.net/blog/vanessa

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม