วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผัสสะ

ผัสสะ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ผัสสะ ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง สัมผัส การกระทบ การถูกต้องที่ให้เกิดความรู้สึก
ผัสสะ เป็น ความประจวบกันแห่งสามสิ่ง คือ อายตนะภายใน(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อายตนะภายนอก(รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) และวิญญาณ

ผัสสะ 6

สัมผัส หรือ ผัสสะ มีหกอย่าง คือ

1.จักขุสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางตา คือ ตา+รูป+จักขุวิญญาณ

2.โสตสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางหู คือ หู+เสียง+โสตวิญญาณ

3.ฆานสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางจมูก คือ จมูก+กลิ่น+ฆานวิญญาณ

4.ชิวหาสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางลิ้น คือ ลิ้น+รส+ชิวหาวิญญาณ

5.กายสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางกาย คือ กาย+โผฏฐัพพะ(เช่น ร้อน เย็น อ่อน แข็ง)+กายวิญญาณ

6.มโนสัมผัส หมายถึง ความกระทบทางใจ คือ ใจ+ธรรมารมณ์(สิ่งที่ใจนึกคิด)+มโนวิญญาณ

ผัสสเจตสิก

ในคัมภีร์พระอภิธรรม มีการกล่าวถึงผัสสะ ในลักษณะที่เป็นเจตสิก(คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด) เรียกว่า ผัสสเจตสิก เป็นธรรมชาติที่กระทบถูกต้องอารมณ์

ลักษณะเฉพาะตัวของ ผัสสเจตสิก มีอยู่สี่ประการคือ

- มีการกระทบ เป็นลักษณะ

- มีการประสาน (อารมณ์+วัตถุ+วิญญาณ) เป็นกิจ

- มีการประชุมพร้อมกัน เป็นผลปรากฏ

- มีอารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะหน้า เป็นเหตุใกล้

ผัสสะเป็นสิ่งประสานจิตกับอารมณ์ เกิดการประชุมพร้อมกันแห่ง สภาวะธรรมสามประการ คือ อารมณ์+วัตถุ+วิญญาณ

ผัสสะตามหลักปฏิจจสมุปบาท

- เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา...

- เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ...
(สฬายตนะ หมายถึง อายตนะภายในหกอย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)

- จาก สัมมสสูตรที่ 2 พระไตรปิฎก เล่มที่ 16

ไม้อ้อ ๒ กำ พึงตั้งอยู่ได้เพราะต่างอาศัยซึ่งกันและกันฉันใด

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

ถ้าไม้อ้อ ๒ กำนั้น พึงเอาออกเสียกำหนึ่ง อีกกำหนึ่งก็ล้มไป ถ้าดึงอีกกำหนึ่งออก อีกกำหนึ่งก็ล้มไป ฉันใด

เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ

เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

- จาก ทุกขนิโรธสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖

ก็ความดับแห่งทุกข์เป็นไฉน

เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา

เพราะตัณหานั้นเทียวดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ

ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะ

โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

(นัยเดียวกันนี้กับหูและเสียง จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและโผฏฐัพพะ ใจและธรรมารมณ์)

อ้างอิง

พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".
"พระอภิธัมมัตถสังคหะ".และ"อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา".
-------------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม