วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2554

รักของพ่อแม่ ทั้งรักแท้ และ รักยั่งยืน


รักของพ่อแม่ ทั้งรักแท้ และ รักยั่งยืน
เขียนโดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

คัดลอกจากหนังสือ “มองธรรมถูกทาง มีสุขทุกที่”
รวบรวมในหนังสือ “ความจริงเกี่ยวกับ ความรัก ความโกรธ และ ความเมตตา เล่ม ๓” 

     ลูกทุกคนคงเห็นชัดว่า ที่คุณพ่อคุณแม่ทำทุกอย่างให้แก่ลูกนั้น ก็ทำด้วยความรัก เราจึงควรรู้จักความรักของคุณพ่อคุณแม่ให้ดีสักหน่อย 

     เริ่มแรก รู้จักกันไว้ก่อนว่า ความรักนั้น ถ้าแยกตามหลักธรรม ก็แบ่งง่าย ๆ ว่ามี ๒ แบบ 

     ความรักแบบที่ ๑ คือ ความชอบใจอยากได้เขามาสนองความต้องการของเรา เพื่อให้ตัวเรามีความสุข ความชอบใจที่จะเอามาบำเรอความสุขของเรา ชอบใจคนนั้นสิ่งนั้นเพราะจะมาสนองความต้องการเป็นเครื่องบำรุงบำเรอเรา ทำให้เรามีความสุขได้ ความรักแบบนี้มีมากมายทั่วไป

     ความรักแบบที่ ๒ คือ ความอยากให้เขามีความสุข ความต้องการให้คนอื่นมีความสุข หรือความปรารถนาให้คนอื่นอยู่ดีมีความสุข ความรักของพ่อแม่เป็นแบบที่ ๒ นี้ คือ อยากให้ลูกมีความสุข 

     ความรัก ๒ แบบนี้ แทบจะตรงข้ามกันเลย 

     แบบที่ ๑ อยากได้เขามาบำเรอความสุขของเรา (จะหาความสุขจากเขา หรือเอาเขามาทำให้เราเป็นสุข) แต่แบบที่ ๒ อยากให้เขาเป็นสุข (จะให้ความสุขแก่เขา หรือทำให้เขาเป็นสุข) 

     ความรักที่หนุ่มสาวมักพูดกัน คือแบบที่ ๑

     แต่ในครอบครัว มีความรักอีกแบบหนึ่งให้เห็น คือ ความรักระหว่างพ่อแม่กับลูก โดยเฉพาะความรักของพ่อแม่ต่อลูก คือความอยากให้ลูกเป็นสุข 

     ความรักชอบใจ อยากได้เขามาบำเรอความสุขของเรา ก็คือ ราคะ

     ส่วนความรักที่อยากให้เขาเป็นสุข ท่านเรียกว่า เมตตา 

     ความรัก ๒ แบบนี้ มีลักษณะต่างกัน และมีผลต่างกันด้วย อะไรจะตามมาจากความรักทั้ง ๒ แบบนี้ 

     ถ้าความรักแบบที่ ๑ ก็ต้องการได้ ต้องการเอาเพื่อตนเอง เมื่อทุกคนต่างคนต่างอยากได้ ความรักประเภทนี้ ก็จะนำมาซึ่งปัญหา คือ ความเห็นแก่ตัว และการเบียดเบียนแย่งชิงซึ่งกันและกัน 

     ส่วนความรักแบบที่ ๒ อยากให้ผู้อื่นเป็นสุข เมื่ออยากให้ผู้อื่นเป็นสุข ก็พยายามทำให้เขาเป็นสุข เหมือนพ่อแม่รักลูก ก็พยายามทำให้ลูกเป็นสุข และเมื่อทำให้ลูกเป็นสุขได้ ตัวเองก็เป็นสุขด้วย 

     ความรักแบบที่หนึ่ง เป็นความต้องการที่จะหาความสุขให้ตนเอง พอเขามีความทุกข์ลำบากเดือดร้อน หรืออยู่ในสภาพที่ไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ เราก็เบื่อหน่าย รังเกียจ 

     แต่ความรักแบบที่สอง ต้องการให้เขามีความสุข พอเขามีความทุกข์เดือดร้อน เราก็สงสาร อยากจะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ ให้เขาพ้นจากความลำบากเดือดร้อนนั้น 

     ความรักแบบที่หนึ่งนั้น ต้องได้จึงจะเป็นสุข ซึ่งเป็นธรรมดาของปุถุชนทั่วไป ที่ว่า เมื่อเอาเมื่อได้ จึงมีความสุข แต่ถ้าต้องให้ต้องเสีย ก็เป็นทุกข์ 

     วิถีของปุถุชนนี้ จะทำให้ไม่สามารถพัฒนาในเรื่องคุณธรรม เพราะว่าถ้าการให้เป็นทุกข์เสียแล้ว คุณธรรมก็มาไม่ได้ มนุษย์จะต้องเบียดเบียนกัน แก้ปัญหาสังคมไม่ได้ 

     แต่ถ้าเมื่อไร เราสามารถมีความสุขจากการให้ เมื่อไรการให้กลายเป็นความสุข เมื่อนั้นปัญหาสังคมก็จะน้อยลงไป หรือแก้ไขได้ทันที เพราะมนุษย์จะเกื้อกูลกัน 

     ตามปกติ การให้คือการสละหรือยอมเสียไป ซึ่งมักต้องฝืนใจ จึงเป็นความทุกข์ จึงมาสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ ทำให้การให้กลายเป็นความสุข

     ความรักแบบที่สอง ที่ทำให้คนมีความสุขจากการให้ จึงเป็นความรักที่สร้างสรรค์และแก้ปัญหา 

     เมื่อมนุษย์มีความสุขจากการให้ จะเป็นความสุขทั้งสองฝ่าย สุขด้วยกัน คือ ผู้ให้ก็สุขเมื่อเห็นเขามีความสุข ส่วนผู้ได้รับก็มีความสุขจากการได้รับอยู่แล้ว สองฝ่ายสุขด้วยกัน จึงเป็นความสุขแบบประสาน 

     ความสุขแบบนี้ดีแก่ชีวิตของตนเองด้วย คือ ตนเองมีทางได้ความสุขเพิ่มขึ้น แล้วก็ดีต่อสังคม เพราะเป็นการเกื้อกูลกัน ช่วยให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข ทำให้อยู่ร่วมกันด้วยดี 

     ความรักของพ่อแม่คือ อยากเห็นลูกมีความสุข และอยากทำให้ลูกเป็นสุข แล้วก็มีความสุขเมื่อเห็นลูกเป็นสุข 

     เมื่ออยากเห็นลูกมีความสุข พ่อแม่ก็พยายามทำทุกอย่างให้ลูกมีความสุข วิธีสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ลูกมีความสุข ก็คือการให้แก่ลูก เพราะฉะนั้น พ่อแม่ก็จะมีความสุขในการให้แก่ลูก เพราะการให้นั้นเป็นการทำให้ลูกมีความสุข 

     ในขณะที่คนทั่วไปต้องได้จึงจะมีความสุข แต่พ่อแม่ให้ลูกก็มีความสุข บางทีตัวเองต้องลำบากเดือดร้อน แต่พอเห็นลูกมีความสุข ก็มีความสุข ในทางตรงข้าม ถ้าเห็นลูกไม่สบายหรือตกทุกข์ลำบาก พ่อแม่ก็พลอยทุกข์ หาทางแก้ไข ไม่มีความรังเกียจ ไม่มีความเบื่อหน่าย แล้วยังทนทุกข์ทนลำบากเพื่อลูกได้ด้วย 

     รักของพ่อแม่นี้เป็นรักแท้ที่ยั่งยืน ลูกจะขึ้นสูง ลงต่ำ ดี ร้าย พ่อแม่ก็รัก ตัดลูกไม่ขาด ลูกจะไปไหนห่างไกล ยาวนานเท่าใด จะเกิดเหตุการณ์ผันแปรอย่างไร แม้แต่จะถูกคนทั้งโลกเกลียดชัง ไม่มีใครเอาด้วยแล้ว พ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ก็ยังเป็นอ้อมอกสุดท้ายที่จะโอบกอดลูกไว้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม