ผู้คนส่วนใหญ่มักอยากให้ชีวิตยืนยาว แต่ชีวิตมิใช่เส้นตรง หากยังมีมิติอื่น ๆด้วย หากเปรียบชีวิตดังกระแสน้ำ ชีวิตก็ต้องมีอย่างน้อยสามมิติ คือ ยาว กว้าง และลึก ดังนั้นการมีอายุยืนยาวจึงไม่ช่วยให้ชีวิตสมบูรณ์ แต่จะต้องมีความกว้างด้วย นั่นคือ มีจิตใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์รู้สึกเชื่อมโยงกับสรรพชีวิต และรับผิดชอบส่วนรวม ชีวิตที่ยืนยาวแต่ใจแคบจิตเล็ก คิดถึงแต่ตัวเอง ไม่อาทรเพื่อนมนุษย์ หรือไม่สนใจส่วนรวมเลย ย่อมเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ไม่ได้
แต่นอกเหนือจากความกว้างแล้ว ชีวิตที่ดีต้องมีความลึกด้วย นั่นคือมีความลุ่มลึกในจิตใจ สามารถหยั่งถึงความสุขภายใน รวมทั้งประจักษ์แจ้งถึงความจริงที่ลึกซึ้งที่สุดของมนุษย์ นั่นคือ ความไม่มีตัวตน (อนัตตา) ความจริงดังกล่าวซุกซ่อนอยู่ในส่วนลึกที่สุดของมนุษย์ ที่ยากจะหยั่งถึงได้หากขาดการใคร่ครวญด้วยปัญญาอย่างลึกซึ้ง โดยปราศจากอคติและด้วยใจที่เป็นกลางอย่างแท้จริง ตราบใดที่มองไม่เห็นความจริงดังกล่าว เราก็จะถูกครอบงำด้วยความหลงและเกิดความสำคัญมั่นหมายในตัวตน หวงแหนในตัวตนและเห็นแก่ตัวเป็นอย่างยิ่ง ผลก็คือจิตใจคับแคบ ชีวิตตื้นเขิน แม้จะมีชีวิตยืนยาวแต่ก็หาประโยชน์มิได้ กลับสร้างปัญหามากมายให้แก่ทั้งตนเองและผู้อื่น
ชีวิตลุ่มลึกได้ก็เพราะมีปัญญาฉันใด จิตใจกว้างขวางได้ก็เพราะมีเมตตาฉันนั้น ปัญญาและเมตตาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บุคคลมีชีวิตที่ดีงาม สมกับที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า “ชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์” สามารถเข้าถึงทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน จึงเป็นชีวิตที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง
กล่าวได้ว่าจุดหมายของชีวิตคือการบ่มเพาะปัญญาและเมตตา เพื่อให้มีชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ สำหรับผู้ที่ปรารถนาที่จะเข้าถึงชีวิตที่ดีงามตามนัยดังกล่าว คำบรรยาย ๗ บทในหนังสือเล่มนี้คงจะช่วยให้เห็นแนวทางได้บ้าง ขออนุโมทนาคุณฐิตกานต์ ธนาโอฬาร แห่งสำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์ ที่คัดเลือกคำบรรยายดังกล่าวมาพิมพ์เป็นเล่ม หวังว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ตามสมควร
พระไพศาล วิสาโล
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ที่มา : www.visalo.org
สงบเย็นและเป็นประโยชน์ (sagnopYen) โดย Phra Phaisan Visalo
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น