ธรรมะจากอุทกภัย โดย พระไพศาล วิสาโล |
โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2554
สิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเราในวันนี้ ไม่ว่าปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ถึงที่สุดแล้วมันกำลังบอกเราว่า เป็นเพราะเรากำลังขวางความจริง เริ่มที่เราขวางกระแสน้ำ เราไม่ได้ขวางอย่างเดียว แต่ว่าเราทำลายด้วย เราทำลายป่า เราถมคลอง เราทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับสายน้ำ ก็เลยเกิดภัยพิบัติขนาดนี้ แต่ภัยพิบัติขนาดนี้ไม่อาจกัดกร่อนจิตใจเราได้มาก ถ้าหากเรายอมรับความจริง ไม่เอาความต้องการของเรา หรือความยึดมั่นของเราไปขวางกระแสแห่งความจริง เราก็จะผ่านเหตุร้ายอันนี้ไปได้ ถึงแม้เราจะสูญเสียทรัพย์ แต่ใจเราไม่เสีย น้ำท่วมบ้านแต่ไม่ท่วมใจ
อย่างไรก็ตาม ทำใจอย่างเดียวไม่พอ ทำใจก็คือยอมรับว่าน้ำจะท่วมแล้ว พร้อมที่จะเผชิญกับมัน ทำใจอย่างนี้ได้ก็ดีแล้ว แต่อย่าลืมเตรียมตัวด้วย คือปล่อยวางแล้ว ก็อย่าลืมขนของขึ้นที่สูงด้วย
พุทธศาสนาไม่ได้บอกให้ทำใจเพียงอย่างเดียว ต้องทำกิจด้วย คือเตรียมป้องกันหรือหาหนทางลดทอนความเสียหาย ถึงเราจะไม่ยึดติดทรัพย์สมบัติ ปล่อยวางได้ แต่อะไรที่สามารถขนย้ายให้ปลอดภัยได้ก็ควรทำ เหมือนกับเวลาเราเจ็บเราป่วย เราทำใจยอมรับได้ว่าความเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ไม่เยียวยารักษา ทำจิตและทำกิจ ต้องไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นตอนนี้สำหรับคนที่กำลังหาทางปกป้องทรัพย์สมบัติ ก็อย่าทำกิจอย่างเดียวควรทำใจเผื่อไว้ด้วยว่าอาจจะต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติ ส่วนผู้ที่ทำใจได้แล้ว ก็อย่าอยู่นิ่งเฉย ควรขนของขึ้นที่สูงได้แล้วตั้งแต่ตอนนี้ อย่าไปมองว่าเป็นความตื่นตูม เมื่อเราทำเต็มที่แล้วเราจะเสียใจไม่มาก เพราะว่าหนึ่ง ฉันทำเต็มที่แล้ว และสอง ทรัพย์สมบัติที่สูญเสียไปย่อมน้อยกว่าคนที่ประมาทหรือชะล่าใจ
เมื่ออุทกภัยเกิดขึ้น นอกจากการยอมรับความจริงว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และรู้จักยกใจให้เหนือน้ำ แม้ว่าข้าวของจะอยู่ใต้น้ำไปแล้วก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่น่าพิจารณาก็คือ ควรมองเหตุการณ์ครั้งนี้ในแง่บวกบ้าง มองในแง่บวกหมายถึงการรู้จักใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น มองว่ามันเป็นเครื่องสอนธรรมหรือสอนใจเรา สอนให้เราเห็นความไม่เที่ยง สอนใจให้เราตระหนักว่า ทรัพย์สมบัติทั้งปวงที่มีอยู่นี้ไม่มีสักอย่างที่เป็นของเราเลย ความพลัดพรากจากมันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าไม่ใช่วันนี้ก็ต้องเป็นวันหน้า โดยเฉพาะเมื่อถึงวันที่เราต้องตาย ควรใช้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ให้เราตระหนักถึงเรื่องอนาคตภัยอยู่เสมอ แต่ไม่ใช่กลัว ไม่ใช่กังวลกับมัน แต่ให้เตรียมตัวอยู่เสมอ
การเตรียมตัวที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญคือเตรียมตัวตั้งแต่มันยังไม่เกิด หรือยังอยู่ไกล คนส่วนใหญ่มาเตรียมตัวก็เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วหรือเมื่อมันมาประชิดตัวแล้ว คนเรามักจะขยับทำอะไรก็ต่อเมื่อทุกข์มาประชิดตัว ถ้าไม่ทำเพราะความทุกข์บีบคั้น ก็ทำเพราะกลัวความทุกข์ แต่นั่นไม่ใช่วิธีของชาวพุทธ วิธีของชาวพุทธคือต้องรับมือกับมันตั้งแต่มันยังอยู่ไกล เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนเราเปรียบเหมือนม้า ๔ ประเภทที่ใช้เทียมรถ ม้าประเภทแรก เพียงแค่เห็นเงาสารถีชูปฏักขึ้น มันก็รู้ว่าจะเลี้ยวไปทางไหน ประเภทที่สองต้องโดนปฏักทิ่มหนังถึงจะรู้ ประเภทที่สามต้องโดนปฏักทิ่มไปถึงเนื้อถึงจะรู้ ประเภทที่สี่ต้องโดนปฏักทิ่มไปถึงกระดูกถึงจะรู้
คนสี่ประเภทนี้คืออะไร ประเภทแรกคือคนที่เมื่อได้ยินว่ามีคนตาย ก็เกิดความสังเวชหรือความตื่นตัว เข้าหาธรรม ประเภทที่สองต่อเมื่อเห็นคนตายก็ค่อยตื่นตัว เข้าหาธรรม ประเภทที่สาม เมื่อพบว่าคนรัก คนใกล้ชิดตาย จึงค่อยตื่นตัวเข้าหาธรรม ประเภทที่สี่ ต่อเมื่อตัวเองใกล้ตายถึงจะตื่นตัว พระพุทธเจ้าสรรเสริญคนประเภทแรก คือเพียงแค่รู้ว่ามีคนตายก็เข้าหาธรรมแล้ว ไม่ต้องรอให้ความตายเกิดขึ้นกับคนรักหรือเข้ามาประชิดตัว คือไม่ได้ทำเพราะกลัวความทุกข์หรือถูกความทุกข์บีบคั้น
อุทกภัยครั้งนี้นอกจากสอนใจเราเรื่องอนิจจัง ความไม่เที่ยง ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย และเตือนใจให้เราไม่ประมาทแล้ว ยังสามารถฝึกใจให้เราเข้มแข็ง ฝึกใจให้เรามีสติ ฝึกใจให้เรารู้จักปล่อยวาง ทั้งหมดนี้ล้วนมีารถือนใจให้เราไม่ประมาทแล้ว ยังอนิจจัง ความไม่เที่ยง ประโยชน์เพราะเราจะต้องเจอภัยธรรมชาติอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เว้นแต่ว่าเราตายก่อนเท่านั้น
พูดอีกอย่าง อุทกภัยครั้งนี้เปรียบเสมือนการบ้านที่ฝึกเรา ถ้าเราทำการบ้านข้อนี้ได้ เราก็มีโอกาสที่จะทำการบ้านข้อที่ยากขึ้นได้ แต่ถ้าเรายังไม่ผ่านการบ้านข้อนี้ ถ้าเราสอบตก แล้วเราจะหวังได้อย่างไรว่าเราจะสอบได้เมื่อมีเหตุการณ์ที่หนักกว่านี้ในอนาคต เหตุการณ์ที่หนักกว่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นภัยพิบัติ อย่างเช่นน้ำท่วมแผ่นดินไหว อาจจะเป็นภัยพิบัติส่วนตัวก็ได้ เช่นเมื่อคุณพบว่าคุณป่วยหนัก เป็นโรคร้าย เป็นมะเร็ง หรือว่าคุณกำลังจะตายไม่ว่าเพราะเหตุใดก็ตาม นี่เป็นภัยพิบัติส่วนตัวที่ทุกคนต้องเจอ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเครื่องฝึกซ้อมเพื่อเราจะได้เข้มแข็ง แกร่งกล้า และมีปัญญาเพิ่มขึ้น ช่วยให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันที่จริงควรจะมองด้วยซ้ำว่า เหตุการณ์แบบนี้ช่วยเตือนให้เราหมั่นเจริญมรณสติอยู่เสมอ ถ้าเราเจริญมรณสติอยู่เสมอ โดยอาศัยเหตุการณ์นี้เป็นเครื่องกระตุ้นเร้า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเราจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย ถึงสูญเสียรถ สูญเสียเงิน สูญเสียทรัพย์สิน แม้เป็นจำนวนมาก แต่มันจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันทีเมื่อเปรียบเทียบกับความตายที่ต้องเกิดขึ้นกับเรา เพราะถึงตอนนั้นเรามีเท่าไหร่ ก็ต้องสูญเสียจนหมด วันนี้เราอาจสูญเสียบ้านหรือถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว แต่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ เราก็สามารถหาใหม่ได้ แต่ถ้าถึงวันที่เราต้องตาย เราจะต้องสูญสิ้นทุกอย่าง แม้แต่ลมหายใจก็ไม่เหลือ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราในวันนี้ แม้เป็นความสูญเสียที่มากมาย จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อนึกถึงความตายที่ต้องเกิดขึ้น ฉะนั้นจึงขอให้หมั่นพิจารณามรณสติไว้เสมอ จะช่วยให้เราปล่อยวางหรือทำใจได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น
สตีฟ จอบส์ เคยแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อปี ๒๕๔๘ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นปาฐกถาที่ดีมาก ตอนนั้นเขาป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนแล้ว ตอนหนึ่งเขาพูดถึงความตายว่า ความตายเป็นอุปกรณ์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่ช่วยให้คนเราตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ในชีวิตได้ เขาบอกว่า สิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา เช่น ความคาดหวัง ความทะนงตน ความกลัวเสียหน้า กลัวความล้มเหลว ทั้งหมดนี้จะมลายหายไปเมื่อคุณระลึกถึงความตาย จะเหลืออยู่ก็แต่สิ่งที่มีความสำคัญจริง ๆ กับชีวิตของคุณ เขายังบอกอีกว่า การระลึกถึงความตายอยู่เสมอเป็นวิธีดีที่สุดที่ช่วยให้เราหลุดพ้นจากกับดักของความคิดที่ว่า เรามีอะไรต้องสูญเสีย เพราะที่จริงเราไม่มีอะไรต้องสูญเสีย เนื่องจากเราทุกคนล้วนเปลือยเปล่า คือไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลยจริง ๆ
เราเกิดมามือเปล่า เมื่อตายเราก็ไปมือเปล่า ทรัพย์สมบัติที่เราได้มาระหว่างนั้นต้องถือว่าเป็นกำไร ถ้าคุณสูญไปหมดเลยก็เท่าทุนเท่านั้นเอง แต่คนที่สูญเสียจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ อาตมาเชื่อว่า คุณไม่ได้เท่าทุน คุณยังมีอะไรอีกหลายอย่างอยู่กับตัว อย่างน้อยก็ยังมีบ้าน มีครอบครัว มีเพื่อนฝูง และที่สำคัญที่สุดคือมี ลมหายใจที่จะสร้างอนาคต สร้างความหวังขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะสูญเสียอะไรไปก็ตามลองนึกถึงวันสิ้นลม ว่าเมื่อถึงวันนั้นคุณต้องไปมือเปล่า เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง ดังนั้นสิ่งที่ยังเหลืออยู่ตอนนี้ควรถือว่าเป็นกำไร หากคิดได้เช่นสมบัติที่สูญเสียไปก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปทันที
ดังนั้นอย่าลืมเจริญมรณสติอยู่เสมอ มันจะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นความทุกข์หรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั้งวันนี้และวันหน้าได้ นี่เป็นวิธีหนึ่งในการเตรียมใจให้สอดคล้องกับกระแสธรรมชาติหรือกระแสสัจธรรม อันได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบแล้วพราก เจอแล้วจาก ยามใดที่เราวางใจขวางกระแสสัจธรรม ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่อยากสูญเสีย เราจะถูกธรรมชาติทำร้าย ธรรมชาติลงโทษ เหมือนกับตอนนี้ที่ผู้คนกำลังถูกธรรมชาติลงโทษเพราะสร้างสิ่งกีดขวางกระแสน้ำอันไหลเชี่ยว ต่อเมื่อเปิดทางให้กระแสน้ำไหลผ่าน เปิดใจให้สอดคล้องกับกระแสธรรมชาติ เราจึงจะอยู่ได้อย่างมีความสุขท่ามกลางความทุกข์ ถึงแม้ประสบทุกข์แต่เราสามารถยกจิตให้เหนือทุกข์ได้ ถ้าวางใจเป็น
มติชนรายวัน วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔
ธรรมะจากอุทกภัย
พระไพศาล วิสาโล
ธรรมะจากอุทกภัย
พระไพศาล วิสาโล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น