วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คำสอนว่าด้วยรัก :ท่าน ติช นัท ฮันห์ 2


คำสอนว่าด้วยรัก :ท่าน ติช นัท ฮันห์     

เมตตา ความรัก หรือไมตรี

แง่มุมแรกของเรื่องความรักที่แท้ก็คือการมีไมตรี หรือความตั้งใจและความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเบิกบาน เป็นสุข ในการสร้างเสริมไมตรีขึ้นนั้น เราจะต้องฝึกการเฝ้าดูและการฟังอย่างตั้งใจ จะได้รู้ว่าอะไรที่ควรทำและไม่ควรทำเพื่อให้คนอื่นมีความสุข ถ้าเธอมอบของบางอย่างให้แก่คนรัก ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ต้องการมัน ก็ไม่นับเป็นไมตรี เธอจะต้องแลให้เห็นถึงสภาพการณ์จริง ๆ ของคนผู้นั้นด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วสิ่งที่มอบให้ไป จะทำให้เขาเป็นทุกข์

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้คนจำนวนมากที่ชอบกินทุเรียน ถึงขั้นเรียกได้ว่าติดกันงอมแงมเลยทีเดียว กลิ่นของมันแรงจัด บางคนพอกินเสร็จถึงกับเอาเปลือกของมันไปวางไว้ใต้เตียงเพื่อสูดกลิ่นต่อ สำหรับตัวข้าพเจ้าเองไม่ถูกกับกลิ่นทุเรียนเอาเสียเลย วันหนึ่งขณะข้าพเจ้ากำลังสวดมนต์อยู่ในวัดที่เวียดนามนั้น ได้มีทุเรียนลูกหนึ่งวางถวายอยู่บนหิ้งพระ ข้าพเจ้าพยายามสวดสัทธรรมปุณฑริกสูตรพร้อมกับเคาะไม้มักฮื้อสั่นระฆังใบใหญ่ แต่ก็ไม่อาจกำหนดจิตจดจ่อไปได้ตลอด ในที่สุดต้องเอาระฆังไปคว่ำปิดลูกทุเรียนบนหิ้งเสีย จึงจะสวดมนต์ต่อได้ พอสวดเสร็จ ข้าพเจ้าก็ก้มคำนับพระพุทธรูปแล้วหยิบระฆังออก ถ้าเธอพูดกับข้าพเจ้าว่า “กระผมรักท่านมากครับ อยากให้ท่านทานทุเรียนดูสักหน่อย” ข้าพเจ้าก็คงจะเป็นทุกข์ เธอรักและอยากให้ข้าพเจ้ามีความสุข ทว่ากลับบังคับให้กินทุเรียน นั่นเป็นตัวอย่างของความรักที่ปราศจากความเข้าใจ ความตั้งใจของเธอดี แต่ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง

ความรักที่ขาดความเข้าใจนั้นไม่ใช่ความรักที่แท้ เธอต้องมองลึกลงไปให้เห็นและเข้าใจถึงความต้องการ ความปรารถนา ตลอดจนความทุกข์ทรมานของคนที่เธอรัก เราทุกคนต่างก็ต้องการความรัก ความรักทำให้เราเบิกบานและอยู่ดีมีสุข ก็เหมือน ๆ กับอากาศนั่นแหละ เราได้รับความรักจากอากาศ เราต้องการอากาศบริสุทธิ์เพื่อความแช่มชื่น เราได้รับความรักจากต้นไม้ เราต้องการต้นไม้เพื่อจะได้มีสุขภาพแข็งแรง ทว่าการจะได้รับความรักนั้น เราจะต้องรู้จักรัก ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องเข้าใจเสียก่อน ความรักของเราจึงสืบเนื่องต่อไปได้ เราจำเป็นจะต้องกระทำการหรือต้องงดเว้นไม่กระทำบางสิ่งเพื่อปกป้องอากาศ ต้นไม้ และคนรักของเรา

ไมตรีอาจแปลเป็น “ความรัก” หรือ “ความเมตตา” ก็ได้ ธรรมาจารย์บางท่านชอบใช้คำว่า “เมตตา” มากกว่า เพราะเห็นคำว่า “ความรัก” นั้นล่อแหลมเกินไป แต่ตัวข้าพเจ้าชอบใช้คำว่าความรัก บางทีถ้อยคำอาจจะทำให้สับสน ทว่าเราก็ต้องแก้ไข เรามักใช้คำว่าความรักในนิยามของความใคร่หรือความปรารถนา อย่างเช่น “ฉันชอบแฮมเบอร์เกอร์” แต่เราจะต้องระมัดระวังในการใช้ภาษาให้มากขึ้น “ความรัก” ถือเป็นถ้อยคำงดงาม เราควรจะคงความหมายของมันเอาไว้ ส่วนคำว่า “ไมตรี” นั้นมีรากศัพท์มาจากคำว่ามิตรหรือเพื่อน ดังนั้นความหมายดั้งเดิมของความรักในทางพุทธศาสนาก็คือมิตรภาพ

เราทุกคนล้วนมีเมล็ดพันธุ์ของความรักอยู่ในตัว เราสามารถพัฒนาพลังอันน่าอัศจรรย์นี้ บ่มเพาะความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ชนิดที่ไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้อะไรตอบแทน หากเราเข้าใจใครสักคนดีพอแล้ว ถึงคน ๆ นั้นจะทำร้ายเรา เราก็จะยังคงรักคนผู้นั้นอยู่ องค์ศากยมุนีพุทธทรงตรัสว่า พระพุทธเจ้าในภายภาคหน้าจะมีพระนามว่าเมตไตรยหรือพระพุทธเจ้าแห่งความรัก

คัดลอกจาก : http://www.oknation.net/blog/vanessa

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม