วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ความรักหรือไมตรี


ความรักหรือไมตรี
เขียนโดย ติช นัท ฮันห์

คัดลอกจากหนังสือ “เมตตาภาวนา : คำสอนว่าด้วยความรัก”
รวบรวมในหนังสือ “ความจริงเกี่ยวกับ ความรัก ความโกรธ และ ความเมตตา เล่ม ๓” 

     แง่มุมแรกของเรื่องความรักที่แท้ก็คือการมีไมตรี หรือความตั้งใจและความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเบิกบาน เป็นสุข ในการสร้างเสริมไมตรีขึ้นนั้น เราจะต้องฝึกการเฝ้าดูและการฟังอย่างตั้งใจ จะได้รู้ว่าอะไรที่ควรทำและไม่ควรทำ เพื่อให้คนอื่นมีความสุข ถ้าเธอมอบของบางอย่างให้แก่คนรัก ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ต้องการมัน ก็ไม่นับเป็นไมตรี เธอจะต้องแลให้เห็นถึงสภาพการณ์จริง ๆ ของคนผู้นั้นด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วสิ่งที่มอบให้ไป จะทำให้เขาเป็นทุกข์

     ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้คนจำนวนมากที่ชอบกินทุเรียน ถึงขั้นเรียกได้ว่าติดกันงอมแงมเลยทีเดียว กลิ่นของมันแรงจัด บางคนพอกินเสร็จถึงกับเอาเปลือกของมันไปวางไว้ใต้เตียงเพื่อสูดกลิ่นต่อ สำหรับตัวข้าพเจ้าเองไม่ถูกกับกลิ่นทุเรียนเอาเสียเลย วันหนึ่งขณะข้าพเจ้ากำลังสวดมนต์อยู่ในวัดที่เวียดนามนั้น ได้มีทุเรียนลูกหนึ่งวางถวายอยู่บนหิ้งพระ ข้าพเจ้าพยายามสวดสัทธรรมปุณฑริกสูตรพร้อมกับเคาะไม้บักฮื้อสั่นระฆังใบใหญ่ แต่ก็ไม่อาจกำหนดจิตจดจ่อไปได้ตลอด ในที่สุดต้องเอาระฆังไปคว่ำปิดลูกทุเรียนบนหิ้งเสีย จึงจะสวดมนต์ต่อได้ พอสวดเสร็จ ข้าพเจ้าก็ก้มคำนับพระพุทธรูปแล้วหยิบระฆังออก ถ้าเธอพูดกับข้าพเจ้าว่า “กระผมรักท่านมากครับ อยากให้ท่านทานทุเรียนดูสักหน่อย” ข้าพเจ้าก็คงจะเป็นทุกข์ เธอรักและอยากให้ข้าพเจ้ามีความสุข ทว่ากลับบังคับให้กินทุเรียน นั่นเป็นตัวอย่างของความรักที่ปราศจากความเข้าใจ ความตั้งใจของเธอดี แต่ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง

     ความรักที่ขาดความเข้าใจนั้นไม่ใช่ความรักที่แท้ เธอต้องมองลึกลงไปให้เห็นและเข้าใจถึงความต้องการ ความปรารถนา ตลอดจนความทุกข์ทรมานของคนที่เธอรัก เราทุกคนต่างก็ต้องการความรัก ความรักทำให้เราเบิกบานและอยู่ดีมีสุข ก็เหมือนกับอากาศนั่นแหละ เราได้รับความรักจากอากาศ เราต้องการอากาศบริสุทธิ์เพื่อความแช่มชื่น เราได้รับความรักจากต้นไม้ เราต้องการต้นไม้เพื่อจะได้มีสุขภาพแข็งแรง ทว่าการจะได้รับความรักนั้น เราจะต้องรู้จักรัก ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องเข้าใจเสียก่อน ความรักของเราจึงสืบเนื่องต่อไปได้ เราจำเป็นต้องกระทำการหรือต้องงดเว้นไม่กระทำบางสิ่งเพื่อปกป้องอากาศ ต้นไม้ และคนรักของเรา

     ไมตรีอาจแปลเป็น “ความรัก” หรือ “ความเมตตา” ก็ได้ ธรรมาจารย์บางท่านชอบใช้คำว่า “เมตตา” มากกว่า เพราะเห็นคำว่า “ความรัก” นั้นล่อแหลมเกินไป แต่ตัวข้าพเจ้าชอบใช้คำว่าความรัก บางทีถ้อยคำอาจจะทำให้สับสน ทว่าเราก็ต้องแก้ไข เรามักใช้คำว่าความรักในนิยามของความใคร่หรือความปรารถนา อย่างเช่น “ฉันชอบแฮมเบอร์เกอร์” แต่เราจะต้องระมัดระวังในการใช้ภาษาให้มากขึ้น “ความรัก” ถือเป็นถ้อยคำงดงาม เราควรจะคงความหมายของมันเอาไว้ ส่วนคำว่า “ไมตรี” นั้นมีรากศัพท์มาจากคำว่ามิตรหรือเพื่อน ดังนั้นความหมายดั้งเดิมของความรักในทางพุทธศาสนาก็คือมิตรภาพ

     เราทุกคนล้วนมีเมล็ดพันธุ์ของความรักอยู่ในตัว เราสามารถพัฒนาพลังอันน่าอัศจรรย์นี้ บ่มเพาะความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ชนิดที่ไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้อะไรตอบแทน หากเราเข้าใจใครสักคนดีพอแล้ว ถึงคน ๆ นั้นจะทำร้ายเรา เราก็จะยังคงรักคนผู้นั้นอยู่ องค์ศากยมุนีพุทธทรงตรัสว่า พระพุทธเจ้าในภายภาคหน้าจะมีพระนามว่า เมตไตรย หรือพระพุทธเจ้าแห่งความรัก

"กรุณา"

     แง่มุมต่อมาของความรักที่แท้ก็คือ กรุณา หรือความตั้งใจและปรารถนาอยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ เศร้าเสียใจน้อยลง แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องทนทุกข์เพื่อช่วยขจัดทุกข์ไปจากผู้อื่น ตัวอย่างเช่น หมอสามารถเยียวยาความเจ็บปวดของคนไข้ได้โดยไม่ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคเดียวกัน เพราะถ้าเราเป็นทุกข์มากจนเกินไป เราก็อาจจะย่ำแย่ จนไม่อาจช่วยเหลือผู้ใดได้ 

     การจะสร้างความกรุณาขึ้นในตัว เราจำเป็นจะต้องฝึกหายใจอย่างมีสติ ตั้งใจในการฟังและเฝ้าดูอย่างจดจ่อ ในสัทธรรมปุณฑริกสูตรได้ อธิบายว่า อวโลกิเตศวรคือพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเพียร “ทรงเฝ้ามองด้วยสายพระเนตรแห่งความกรุณา และตั้งใจสดับฟังเสียงร่ำไห้คร่ำครวญของสรรพสัตว์” ความกรุณานั้นเปี่ยมไปด้วยความห่วงใยอย่างจริงจัง เธอรู้ว่าคนอื่นกำลังเป็นทุกข์อยู่ จึงเข้าไปนั่งใกล้ ๆ ตั้งใจเฝ้ามองและสดับฟัง เพื่อจะได้สัมผัสกับความเจ็บปวดของคนผู้นั้น เธอมีความตั้งใจติดต่อสื่อสารกับคนผู้นั้นจริง ๆ เพียงลำพังเท่านี้ก็ช่วยปลดเปลื้องความทุกข์บางส่วนของคน ๆ นั้นลงได้

     เพียงแค่ความคิด การกระทำ หรือคำพูดแสดงความเห็นใจ ย่อมสามารถช่วยบรรเทาความทุกข์ สร้างความเบิกบานให้แก่ผู้คนได้ คำพูดเพียงคำเดียวย่อมสามารถปลอบประโลม สร้างความเชื่อมั่น ขจัดความเคลือบแคลง ช่วยให้เขาหลีกเลี่ยงจากความผิดพลาด ประสานรอยร้าว หรือเปิดประตูไปสู่ความหลุดพ้นได้ เพียงหนึ่งการกระทำอาจสามารถช่วยชีวิตคน หรือทำให้เขาได้ใช้โอกาสนั้นได้อย่างเหมาะสม เพียงหนึ่งความคิดก็สามารถกระทำได้เช่นเดียวกัน เพราะความคิดมักจะนำไปสู่คำพูดและการกระทำเสมอ ถ้าหัวใจเรามีความกรุณา ทุก ๆ ความคิด คำพูดและการกระทำย่อมสามารถก่อให้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นได้

     สมัยที่ยังเป็นเณร ข้าพเจ้าไม่อาจเข้าใจได้ว่า หากโลกเต็มไปด้วยความทุกข์ เหตุใดพระพุทธองค์จึงยังทรงยิ้มแย้มได้งดงามเช่นนั้น ไฉนความทุกข์ทั้งมวลถึงไม่อาจกัดกร่อนพระองค์ลงได้ ต่อมา ข้าพเจ้าจึงค้นพบว่าพระพุทธองค์ทรงมีความเข้าใจ สงบนิ่ง และตั้งมั่น ทำให้ความทุกข์ไม่อาจครอบงำพระองค์ พระองค์สามารถแย้มยิ้มให้กับความทุกข์ได้ก็เพราะรู้วิธีที่จะจัดการและแปรเปลี่ยนมัน เราจำต้องรู้เท่าทันความทุกข์ โดยที่ยังคงความแจ่มแจ้ง ความสงบ และพละกำลังของเราเอาไว้ เพื่อจะได้ช่วยพลิกผันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากเรามีความกรุณา ก็จะไม่จมจ่อมอยู่ในห้วงสมุทรแห่งหยาดน้ำตา และนั่นก็คือเหตุผลที่ทำให้พระพุทธองค์ทรงแย้มยิ้มได้

"มุทิตา"

     องค์ประกอบที่สามของความรักที่แท้ก็คือ มุทิตา ความรักที่แท้มักจะนำพาความยินดีเบิกบานมาสู่ตัวเราและคนที่เรารักเสมอ แต่ถ้าหากความรักของเรา ไม่อาจนำพาความยินดีเบิกบานมาให้ทั้งเราและเขาได้ก็ย่อมไม่ใช่ความรักที่แท้

     อรรถกถาจารย์ได้อธิบายว่าความสุขนั้น เชื่อมโยงกับร่างกายและจิตใจ ขณะที่มุทิตาเชื่อมโยงกับจิตเป็นสำคัญ ดังตัวอย่างที่มักยกขึ้นมาแสดงว่า ดุจดังคนท่องไปในทะเลทราย เมื่อได้พบเห็นธารน้ำเย็น ย่อมรู้สึกยินดีเบิกบาน และเมื่อได้ดื่มน้ำนั้น ย่อมเป็นสุข ทิฏฐธรรมสุขวิหาร หมายถึง “อยู่อย่างเป็นสุขกับปัจจุบันขณะ” เราจะไม่รีบเร่งไปสู่อนาคตข้างหน้า เพราะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ สิ่งละอันพันละน้อยมากมายสามารถนำพาความยินดีเบิกบานใหญ่หลวงมาสู่เราได้ อย่างเช่นการตระหนักรู้ว่าเรามีดวงตาที่ยังใช้การได้ดี เพียงแต่เราลืมตาขึ้น ก็จะได้เห็นท้องฟ้าสีคราม ดอกไม้สีม่วง ได้เห็นเด็ก ๆ ต้นไม้ รวมทั้งสิ่งอื่น ๆ ที่หลากหลายรูปทรงและสีสัน การอยู่อย่างมีสติจะทำให้เราได้สัมผัสกับสิ่งอันแช่มชื่น และมหัศจรรย์เหล่านี้ ทั้งยังทำให้จิตใจพลอยยินดีเบิกบานตามไปด้วย ความยินดีเบิกบานจึงเจือด้วยความสุข และความสุขก็เจือไปด้วยความยินดีเบิกบาน

     อรรถกถาจารย์บางท่านกล่าวว่า มุทิตา หมายถึง “ความยินดีเบิกบานที่แบ่งปันร่วมกัน” หรือ “ความยินดีเบิกบานอันไม่เห็นแก่ตัว” เป็นความสุขที่เรารู้สึกเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นสุข แต่นั่นเป็นความหมายที่จำกัดเกินไป เพราะมันแบ่งแยกระหว่างตัวเองกับผู้อื่น ความหมายที่ลึกซึ้งกว่าของคำว่า มุทิตา ก็คือความยินดีเบิกบานที่เจือไปด้วยความสงบและความพอเพียง เราชื่นบานเมื่อได้เห็นผู้อื่นมีความสุข ขณะเดียวกันตัวเราก็ชื่นบานไปกับความสุขของตนด้วย เราจะยินดีเบิกบานกับผู้อื่นได้อย่างไร หากเรามิได้รู้สึกอย่างนี้กับตนเอง ความยินดีเบิกบานจึงเป็นของทุก ๆ คน

"อุเบกขา"

     องค์ประกอบที่สี่ของความรักที่แท้คือ อุเบกขา อันหมายถึงการไม่ยินดียินร้าย ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่วินิจฉัย การวางเฉย หรือปล่อยให้เป็นไป ดังเช่นยามเธอปีนขึ้นภูผา ก็จะมองเห็นทุกทิศทาง ไม่ได้ถูกปิดกั้นโดยด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าความรักของเธอมีความยึดมั่นถือมั่น ลำเอียงมีอคติหรือผูกติดแล้ว นั่นย่อมไม่ใช่ความรักที่แท้ บางครั้งคนที่ไม่เข้าใจพุทธศาสนาจะคิดว่าอุเบกขาหมายถึงการไม่สนใจไยดี ทว่าการวางเฉยที่แท้ไม่ใช่ความเย็นชา หรือการไม่สนใจไยดี ถ้าเธอมีลูกมากกว่าหนึ่งคน ทุกคนก็ย่อมจะเป็นลูกของเธอ อุเบกขาไม่ได้หมายความถึงการไม่รัก แต่เธอจะรักในแบบที่ลูก ๆ ทุกคนได้รับความรัก โดยปราศจากความลำเอียงจากเธอ

     อุเบกขาย่อมแสดงถึง “สมตชฺญาณ” หรือการรู้แจ้งในความมีตนเสมอ สามารถมองทุกคนได้อย่างเท่าเทียม ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างตัวเองกับคนอื่น เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น แม้เราจะรู้สึกกังวลอยู่ลึก ๆ แต่เราก็จะไม่ลำเอียง ยังสามารถที่จะรักและเข้าใจทั้งสองฝ่ายได้ เราจะขจัดความลำเอียงและอคติทั้งหลาย ตลอดจนข้อจำกัดระหว่างตัวเรากับตัวเขาออกไป ตราบใดที่เรามองตัวเองในฐานะของผู้รัก และคนอื่นในฐานะผู้ที่ถูกรัก ตราบใดที่เราประเมินตัวเองสูงกว่าคนอื่น หรือมองตัวเองต่างไปจากผู้อื่นแล้ว ก็ย่อมไม่มีอุเบกขาอย่างแท้จริงเกิดขึ้น เราต้องหลอมตัวเอง “ลงไปในเนื้อหนังของผู้อื่น” แล้วกลายเป็นหนึ่งเดียวกับคนผู้นั้น หากเราปรารถนาที่จะเข้าใจและรักเขาอย่างแท้จริง เช่นนั้นแล้วก็จะไม่มี “ตัวเรา” และ “ตัวเขา”

     หากไม่มีอุเบกขา ความรักของเธออาจเป็นแบบครอบครอง สายลมยามฤดูร้อนอาจแช่มชื่น แต่ถ้าเราพยายามเอามันอัดใส่กระป๋องให้เป็นของเราแล้ว สายลมก็จะไม่มีชีวิต คนที่เรารักก็เช่นเดียวกัน เขาเป็นเหมือนกับเมฆหมอก สายลม ดอกไม้ หากเธอนำไปกักขังใส่ไว้ในกระป๋อง เขาก็จะตาย แต่กระนั้นก็ยังมีคนมากมายกระทำเช่นว่านี้ พวกเขาขโมยเอาสิทธิเสรีภาพของคนที่รักไป กระทั่งเขาสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง พวกเขามีชีวิตอยู่เพื่อสร้างความพอใจให้กับตัวเองและใช้คนที่ตนรักเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุถึงสิ่งนั้น นี่ไม่ใช่ความรักหากแต่เป็นการทำลาย เธอบอกว่ารักเขา แต่ถ้าเธอไม่เข้าใจถึงความปรารถนา ความต้องการ ความยากลำบากของคนที่รักแล้ว เขาก็ย่อมตกอยู่ในกรงขังที่มีชื่อว่าความรัก ความรักที่แท้จะต้องให้ตัวเธอและคนที่เธอรักยังคงมีอิสรภาพ นั่นก็คืออุเบกขา

     ความรักที่แท้จริงนั้น ต้องเจือด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ความเมตตาที่แท้ก็ต้องมีความรัก กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ความกรุณาที่แท้ก็ต้องมีความรัก ความเมตตา มุทิตา และอุเบกขา มุทิตาที่แท้ก็ต้องกอปรไปด้วยความรัก ความเมตตา กรุณา และอุเบกขา ส่วนอุเบกขาที่แท้ก็ต้องมีความรัก ความเมตตา กรุณา และมุทิตาอยู่ร่วมกัน

     ทั้งหมดนี้คือภาวะที่ดำรงอยู่อย่างอิงอาศัยกันของพรหมวิหารสี่ เมื่อพระพุทธองค์ทรงบอกให้พราหมณ์ดำเนินไปบนเส้นทางของพรหมวิหารสี่ ท่านก็ได้ประทานคำสอนที่สำคัญยิ่งแก่พวกเราทุกคนด้วย แต่เราต้องพินิจพิจารณาและปฏิบัติ เพื่อนำพาองค์คุณทั้งสี่แห่งความรักมาสู่ชีวิตตัวเอง รวมถึงชีวิตคนที่เรารักด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม