วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พุทธศาสนาสำหรับสังคมสมัยใหม่ สนทนากับ ติช นัท ฮันห์



พุทธศาสนาสำหรับสังคมสมัยใหม่
สนทนากับ ติช นัท ฮันห์

ติช นัท ฮันห์ พระอาจารย์เซนชาวเวียดนาม ถือกำเนิดเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๙ ในเวียดนามตอนกลาง เข้าสู่เพศบรรชิตเมื่ออายุ ๑๖ ปี ในช่วงที่เกิดสงครามเวียดนาม ท่านได้ออกจากวัด มาเริ่มงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสงคราม และทำงานรณรงค์สันติภาพ อย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน ปี ๒๕๐๙ ท่านได้ออกเดินทางไปทั่วสหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของ สมาพันธ์เพื่อการสมานไมตรี “เพื่ออธิบายถึงความมุ่งมาดปรารถนา และความรู้สึกอันเจ็บปวด ของมวลชนชาวเวียดนาม ที่ไร้ปากเสียงทั้งหลาย” ผลจากการทำเช่นนี้ รัฐบาลเวียดนามขู่ว่าจะจับกุมท่าน ท่านจึงไม่สามารถหวนคืนถิ่นกำเนิดได้ นัท ฮันห์ ดำรงตำแหน่งเป็น ประธานคณะกรรมการ ชาวพุทธเวียดนาม เพื่อสันติภาพช่วงสงคราม และในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบล โดย ดร.มาติน ลูเธอร์คิง, จูเนียร์

นับเป็นเวลาหลายปี ที่นัท ฮันห์ ได้เพียรพยายามช่วยเหลือเด็ก ๆ ชาวเวียดนามที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม และเข้าปกป้องคุ้มครอง ผู้อพยพทางทะเลให้ปลอดภัย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ท่านได้เป็นผู้นำในการจัดอบรมสมาธิภาวนาให้กับกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มทหารผ่านศึกเวียดนาม–อเมริกัน นักจิตบำบัด นักสิ่งแวดล้อม นักเคลื่อนไหวทางสังคม และประชาชนทั่วไป ปัจจุบันนี้ท่านพำนักลี้ภัยอยู่ที่หมู่บ้านพลัม ซึ่งเป็นศูนย์อบรมเจริญภาวนาตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ณ ที่แห่งนี้ ท่านยังคงทำงานเผยแผ่ เขียนหนังสือ ทำสวน และงานด้านการช่วยเหลือผู้อพยพทั้งหลาย หนังสือต่าง ๆ ที่ท่านเป็นผู้เขียนรวมแล้วมีมากกว่า ๖๐ เล่ม ในจำนวนนี้ รวมทั้ง เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง, เธอคือศานติ : ลำนำแห่งลมหายใจและรอยยิ้ม, คือเมฆสีขาวทางก้าวเก่าแก่ ฯลฯ

บทสัมภาษณ์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นที่หมู่บ้านพลัม ในปี ๒๕๓๘ โดย เฮเลน ทรอคอฟ บรรณาธิการนิตยสาร Tricycle เป็นผู้สัมภาษณ์

Tricycle : ผู้คนเรือนแสนหันมาสนใจพุทธศาสนาเพราะท่าน สิ่งสำคัญที่พวกเขาจะต้องรู้คืออะไรคะ?

นัท ฮันห์ : (หัวเราะ) รู้จักพุทธศาสนา หรือรู้จักตัวพวกเขาเอง? เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเข้าใจว่า พุทธศาสนาเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ผู้คนอาจจะสนใจศึกษาพุทธศาสนาเนื่องจากมีปัญหาบางอย่างกับศาสนาของตัวเอง สำหรับอาตมาแล้ว พุทธศาสนานั้นเป็นขนบประเพณีอันเก่าแก่และเปิดกว้างมาก ถือเป็นมรดกอันหนึ่งของมนุษยชาติ หากคุณไม่รู้จักว่าอะไรคือพุทธศาสนา คุณก็ไม่ได้รับประโยชน์จากภูมิปัญญาอันนี้

Tricycle : ทุกคนสามารถได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนาหรือคะ?

นัท ฮันห์ : พุทธศาสนาเป็นวิถีชีวิตมากกว่าเป็นศาสนา เหมือนกับผลไม้ คุณอาจชอบกินผลไม้หลายชนิด เช่น กล้วย ส้ม หรือส้มจีน เป็นต้น เมื่อมีบางคนบอกคุณว่า มีผลไม้ชนิดหนึ่งเรียกกันว่ามะม่วง และจะเป็นเรื่องที่ดีมากหากคุณจะลองชิมดูสักครั้ง คงน่าเสียดายหากคุณไม่รู้ว่ามะม่วงคืออะไร และการหันมากินมะม่วง ก็ไม่ได้เรียกร้องให้คุณต้องเลิกนิสัยที่เคยชอบกินส้มชนิดต่าง ๆ แล้วทำไมไม่ลองดูล่ะ เผลอ ๆ คุณอาจจะชอบมะม่วงก็ได้ พุทธศาสนาก็เหมือนกับมะม่วงชนิดหนึ่ง คุณเห็นมั้ย —มันเป็นวิถีชีวิต เป็นประสบการณ์คุ้มค่าน่าลองดู มันเปิดกว้างแก่ทุกคน คุณยังคงเป็นยิวเป็นแคธอลิกต่อไป ขณะที่ได้รับความสุขจากพุทธศาสนา อาตมาคิดว่าเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดมากทีเดียว

Tricycle : แรกทีเดียว ในหนังสือ Interbeing ที่ท่านได้ตีพิมพ์สิกขาบท ๑๔ ข้อขึ้นเป็นครั้งแรกนั้น ดิฉันอยากรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนจากสิกขาบท ๑๔ ข้อมาเป็นศีลห้าที่ท่านเน้นย้ำอยู่เสมอเมื่อเร็ว ๆ นี้ ดูเหมือนว่าบางทีศีลห้าจะเข้มงวดเสียยิ่งกว่า อันนี้เนื่องมาจากความคิดของท่านที่มีต่อลูกศิษย์หรือเปล่าคะ ที่มองว่าเราต้องการมีวินัยเข้มงวดมากยิ่งขึ้น?

นัท ฮันห์ : ศีลห้าเป็นของเก่าแก่มาก ซึ่งย้อนกลับไปได้ถึงสมัยพุทธกาล พวกเรารู้สึกว่า มันควรได้รับการพูดเสียใหม่ ควรได้รับการพูดถึงอีกครั้งในความหมายที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นสำหรับคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับคนหนุ่มสาวในตะวันตก ถ้าคุณบอกว่า “อย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้” ผู้คนก็ไม่ชอบ เพราะเขารู้สึกว่ากำลังถูกบังคับ ให้ทำอะไรบางอย่าง ในทวีปเอเชีย พวกเราก็ได้รับประโยชน์จากการใช้คำใหม่ เช่นเดียวกันนี้ อันนี้ก็เนื่องจากว่าเอเชียในปัจจุบันได้ติดต่อกับโลกตะวันตก และชีวิตประจำวันของผู้คน ก็ถูกทำให้เป็นตะวันตกเสียแล้ว

Tricycle : การถือศีล ๕ นี้เป็นอย่างไร

นัท ฮันห์ : การถือศีล ก็คือ การปกปักรักษาตัวคุณเอง คนที่คุณรัก และสังคม นี่คือเหตุผลว่าทำไม “ความกรุณา” จึงเป็นศีลข้อแรกที่เข้ามาแทน “การห้ามเข่นฆ่า” ที่ใช้ถ้อยคำเช่นนี้ก็เพราะว่า ศีลข้อแรก เป็นการปฏิบัติเพื่อการพิทักษ์รักษาชีวิต ฉันขอปฏิญาณว่าจะละเว้นจากการฆ่า จากการสนับสนุนให้ผู้อื่นฆ่า ฉันขอปฏิญาณว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องชีวิตและป้องกันการเข่นฆ่าที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ไม่ใช่แต่เพียงการกระทำทางกายและวาจาเท่านั้น แต่ด้วยวิถีชีวิตและความคิดของฉันอีกด้วย ด้วยการเจริญสติและความรู้เท่าทัน คุณรู้ว่าความทุกข์นั้นเกิดจากการทุบทำลายชีวิต ผู้คนจึงพร้อมที่จะรับเอาศีลข้อนี้ ไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และศีลอีก ๔ ข้อ ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน

Tricycle : ที่ท่านบอกว่า “เพื่อปกป้องตัวคุณเอง เพื่อปกป้องครอบครัวของคุณ” จริง ๆ แล้วหมายความว่าอย่างไรคะ?

นัท ฮันห์ : อาตมาพูดด้วยภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน เมื่อคุณถือศีลว่าจะไม่ดื่มอัลกอฮอล์ คุณไม่เพียงแต่ปกป้องตัวคุณเอง แต่คุณกำลังปกป้องครอบครัวของคุณ สามีของคุณ ภรรยาของคุณ ลูก ๆ ของคุณ นี่คือการปกป้องคุ้มครองสังคมของคุณ ถ้าขณะขับรถอยู่คุณไม่เมาเหล้า ก็เท่ากับคุณปกป้องผู้คนอีกหลายคน ไม่เพียงตัวคุณเอง แต่หมายถึงครอบครัวของคุณด้วย ถ้ามีคนเสียชีวิตในอุบัติเหตุ ครอบครัวของเขาก็จะต้องเป็นทุกข์ และนี่ก็เท่ากับว่าคุณปกป้องคนผู้นั้นไม่ให้ได้รับบาดเจ็บด้วยการไม่ดื่มเหล้า มันง่ายมากอย่างนี้

Tricycle : ช่วยอธิบายได้ไหมคะว่า เมื่อท่านพูดถึงคำว่า “บรรพบุรุษ” หรือ “มรดกตกทอด” ที่เกี่ยวเนื่องกับ “กรรม” ท่านหมายความว่าอย่างไร? มีความรู้สึกว่าสิ่งที่เราเรียกว่า “กรรม” เป็นเรื่องทางพันธุกรรม ทางชีววิทยา เป็นอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านทางกรรมพันธุ์

นัท ฮันห์ : กรรม คือ การกระทำ การกระทำของพ่อสามารถมีผลกระทบถึงลูก เมื่อคุณปฏิบัติธรรม ก็ เท่ากับคุณได้เปลี่ยน กรรม เมื่อคุณปฏิบัติธรรมใช่เพื่อเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวคุณเอง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงพ่อแม่ของคุณ และบรรพบุรุษของคุณด้วย ในประเทศเวียดนาม เรามีภาษิตว่า เมื่อพ่อกินเกลือมากเกินไป ลูกก็ต้องดื่มน้ำมากยิ่งขึ้น กรรมหรือการกระทำก็เช่นเดียวกัน ไม่เพียงแต่คุณเท่านั้นที่ต้องทนทุกข์ ลูก ๆ ของคุณก็ต้องทุกข์ไปด้วย นี่คือเหตุผลว่า ทำไมการถือศีล จึงถือเป็นการคุ้มครอง ทั้งตัวคุณเองและคนรุ่นที่จะตามมาในอนาคต

Tricycle : ความคิดเรื่องการสืบสายทางพันธุกรรม เข้ากันได้กับการกลับชาติมาเกิดใหม่หรือไม่คะ?

นัท ฮันห์ : อาตมาคงได้แต่ยิ้มเท่านั้น การกลับชาติมาเกิดใหม่ หมายความว่า มีอะไรบางอย่างเข้าไปสู่ร่างกาย อาจจะเป็นบางอย่างที่เรียกว่า “ดวงวิญญาณ” หรือ “จิต” หรือคุณจะใช้คำไหนก็ได้ที่คุณชอบ ให้ความหมายใหม่อีกครั้งว่า การกลับชาติมาเกิด หมายถึง “มาสู่ร่างกายอีกครั้ง” ความเข้าใจก็คือว่า “ดวงวิญญาณ” สามารถออกไปได้ และ “คุณ” สามารถเข้าไปข้างใน นี่อาจจะไม่ใช่คำที่ดีที่สุด ไม่ใช่ภาษาชาวพุทธเสียทีเดียว ในพุทธศาสนามีคำว่า “การเกิดใหม่” เหตุนี้คำสอนพื้นฐานของพระพุทธเจ้า จึงเป็นเรื่อง “ไม่ใช่ตัวตน” ทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏตัวก็เพราะมีเหตุปัจจัย ดังนั้น หากไม่มีร่างกายเสียแล้ว ความรับรู้ ความรู้สึก และจิตสำนึกของเราย่อมไม่สามารถปรากฏได้

Tricycle : ไม่ใช่เกิด แต่เป็นการปรากฏหรือคะ?

นัท ฮันห์ : ใช่ ดังนั้น ร่างกายจึงเป็นเหตุปัจจัยอันหนึ่ง และมีเหตุปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก ในตอนนี้มีพุทธศาสนาอย่างน้อย ๒ ประเภท คือ พุทธศาสนาแบบมหาชนกับพุทธศาสนาแนวลึก พุทธศาสนาชนิดไหนที่คุณกำลังพูดถึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พุทธศาสนาเรียกร้องการเรียนรู้และการปฏิบัติ เพราะอะไรก็ตาม ที่คุณพูดถึงในความหมายประเภทที่สองนั้น อาจนำไปสู่การเข้าใจผิด และก่อให้เกิดความเสียหายได้ คำสอนที่แท้เป็นคำสอนชนิดที่ปรับให้สอดคล้องกับปัจจัย ๒ ประการเสมอ ประการแรกก็คือ ต้องสอดคล้องกับญาณทัศน์ของชาวพุทธ และประการที่สอง มันต้องเหมาะสมกับบุคคลที่รับคำสอนนั้น ๆ เหมือนกับโอสถ ตัวโอสถต้องเป็นของแท้ และมันต้องตรงกับโรคของคนที่รับโอสถนั้น บางครั้ง คุณอาจจะให้การรักษาชนิดที่แสนแพงกับใครสักคนหนึ่ง แต่เขาก็ยังเสียชีวิต นี่คือเหตุผลว่าทำไมเมื่อพระพุทธองค์พบปะกับใครบางคนและสั่งสอนเขา พระองค์จึงต้องรู้จักคนผู้นั้นเพื่อที่จะมอบคำสอนที่เหมาะสมให้ แม้ว่าคำสอนจะมีคุณค่ามหาศาล แต่หากคุณไม่ทำให้เหมาะควรกับบุคคลนั้น ๆ นั่นก็ไม่ใช่การสอนในทางพุทธศาสนา คำสอนนั้นอาจเป็นคำสอนที่ยอดเยี่ยมกับอีกคนหนี่ง แต่กับคน ๆ นี้ มันจะไม่เป็นคำสอนในทางพุทธ นั่นเพราะมันทำให้เกิดความเสียหาย ให้ผลร้ายมากกว่าผลดี หากคุณหยิบยื่นสิ่งของที่ไม่เหมาะสมให้ ก็เท่ากับคุณทำลายเขา

Tricycle : สำหรับผู้อ่านเรือนพันที่อ่านหนังสือของท่าน ท่านหยิบยื่นให้พวกเขาในระดับไหนคะ?

นัท ฮันห์ : หนังสือเหล่านี้ส่วนใหญ่มีกลุ่มผู้ฟังหรือผู้อ่านเฉพาะอยู่แล้ว เช่น เธอคือศานติ : ลำนำแห่งลมหายใจและรอยยิ้ม (Being Peace) แรกก็พูดกับเด็ก ๆ และคนที่มาเข้าอบรมสมาธิภาวนา เมื่อคุณอ่านหนังสือ คุณจะเห็นว่าผู้ฟังประเภทไหนที่หนังสือต้องการสื่อไปถึง อันนี้เป็นจริงกับทุกเรื่อง ทุกพระสูตร แม้กระทั่งกับคัมภีร์ไบเบิลก็เหมือน-กัน เมื่อพระเยซูตรัสกับใครสักคน พระองค์ต้องทรงรู้จักเขาคนนั้นและตรัสกับเขาเป็นการเฉพาะ พระสูตรก็เช่นกัน คุณต้องรู้ว่าใครกันที่พระพุทธองค์ตรัสถึง บางทีพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสกับคุณ หากพระองค์กำลังตรัสกับบุคคลอีกผู้หนึ่ง แต่ถ้าคุณรู้ว่าบุคคลผู้นั้นที่พระพุทธองค์ตรัสอยู่ด้วยนั้นเป็นใคร ก็เท่ากับว่าพระพุทธเจ้ากำลังตรัสกับคุณด้วย อันนี้สำคัญมาก

Tricycle : มีปัญหาบ้างหรือเปล่าค่ะ ในการหยิบยื่นคำสอนที่เหมาะสมให้กับผู้คนหมู่มาก โดยเฉพาะกับคนจำนวนมากในตะวันซึ่งไม่มีพื้นเพทางพุทธศาสนามาก่อนเลย?

นัท ฮันห์ : เราทุกคนต้องพิจารณาความเหมาะสมของคำสอน เพราะนี่เป็นปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่ง อย่างที่อาตมาพูดแล้วว่า ศีล ๕ นั้นสอนกันมาในประเทศจีน เวียดนาม และทิเบตเป็นเวลานานอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งไม่ได้มีปัญหาทางด้านถ้อยคำแต่อย่างใด (หัวเราะ) แต่เมื่อเรานำเสนอคำสอนเดียวกันนี้กับหนุ่มสาวที่นี่ พวกเขาบอกว่า “ฉันไม่ชอบถูกออกคำสั่งให้ทำเช่นนั้นเช่นนี้”

Tricycle : ความเป็นอยู่ในชีวิตของท่านมีผลกระทบต่อวิถีที่ท่านสอนอย่างไรคะ? ความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาหรือไม่นั้น มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างหรือไม่ในวิธีการที่ท่านพูด เนื้อหาที่ท่านพูดหรือสิ่งที่ท่านคิดว่าโลกจำเป็นต้องรับรู้

นัท ฮันห์ : ในหมู่บ้านพลัม ผู้อพยพชาวเวียดนามได้เข้ามาศึกษาปฏิบัติพร้อมกันไปกับชาวยุโรปและชาวอเม--ริกัน ในช่วงเปิดภาคฤดูร้อน อาตมาเคยบรรยายธรรมถึง ๓ ภาษา คือ ภาษาเวียดนาม ฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ มิตรสหายชาวตะวันตกของเรา อยากรู้กันมากถึงสิ่งที่อาตมาพูดกับคนเวียดนาม พวกเขาเข้ามาฟังการแปลโดยใช้หูฟัง แล้วพบว่า เมื่ออาตมาบรรยายธรรมในภาษาเวียดนามนั้นกลับแตกต่างออกไปมากทีเดียว อาตมาระลึกเสมอว่ากำลังพูดกับกลุ่มคนที่มีเบื้องหลังอันทนทุกข์ประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ ความทุกข์ของพวกเขานั้นไม่เหมือนกันเสียทีเดียวกับความทุกข์ที่คนตะวันตกได้รับอยู่

Tricycle : พอจะบอกถึงความแตกต่างนั้นได้ไหมคะ?

นัท ฮันห์ : สมมติว่าเรากำลังพูดถึงครอบครัวผู้อพยพที่ผ่านวันคืนอันทุกข์ทรมานในสภาพ “มนุษย์เรือ” อาจจะมีบางคนในหมู่พวกเขาที่เสียชีวิตในระหว่างการเดินทางอันเสี่ยงอันตรายนั้น บางครั้งลูกอาจรอดชีวิต ส่วนพ่อแม่ต้องล้มตายไป พวกเขาทนทุกข์กับการสูญเสียผู้อันเป็นที่รัก ดังนั้นเหตุการณ์แวดล้อมจึงแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ อาตมามีความรู้สึกว่า ธรรมะที่บรรยายกับชาวเวียดนามนั้นคนตะวันตกอาจรู้สึกแปลก แต่ปรากฏว่าในเวลาต่อมา มิตรสหายชาวตะวันตกบอกว่า “ทำไมท่านไม่พูดถึงปัญหาแบบเดียวกันนั้นให้เราฟังบ้าง?” ส่วนชาวเวียดนามก็เช่นเดียวกัน แต่ละคนอยากรู้อยากเห็นว่าอาตมาพูดอะไรกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ผลก็คือ มีหลายสิ่งที่คนทั้ง ๒ วัฒนธรรมสามารถเข้าใจร่วมกันได้ และแต่ละฝ่ายก็ได้รับประโยชน์จากคำสอนของอีกฝ่ายหนึ่ง

Tricycle : การตื่นรู้สามารถเกิดขึ้นแจ้งได้ด้วยการหายใจอย่างมีสติหรือคะ? – ดูเหมือนเรื่องนี้จะเป็นหัวใจของคำสอนทั้งหมดของท่านเลยทีเดียว

นัท ฮันห์ : แน่นอน การหายใจอย่างมีสติจะช่วยให้คุณเห็นความโกรธ ความท้อแท้ และความทุกข์ของคุณเอง เมื่อคุณหายใจอย่างมีสติ คุณกำลังมองเข้าไปในตัวคุณเองอย่างล้ำลึก คุณถูกสร้างขึ้นมาจากความรู้สึก ความจำได้หมายรู้ ความปรุงแต่งทางจิตใจ และการรับรู้ของจิตสำนึก ธรรมชาติเดิมแท้ของคุณคืออะไร —หากไม่ใช่สิ่งเหล่านี้? การรับรู้ที่ผิดนั่นเองที่ทำให้คุณเป็นทุกข์ หากคุณไม่รู้จักธรรมชาติของการรับรู้ของตัวคุณเอง คุณก็ไม่มีโอกาสที่จะเป็นอิสระจากความทุกข์นั้น ดังนั้นธรรมชาติเดิมแท้ของคุณก็คือธรรมชาติของความรู้สึก (เวทนา) ความรับรู้ (สัญญา) ความปรุงแต่งของจิต (สังขาร) และจิต (วิญญาณ) ของคุณนั่นเอง ธรรมชาติเดิมแท้ ไม่ได้หมายถึงอะไรสักอย่างที่เป็นนามธรรมเลื่อนลอย แต่ชี้ไปที่ธรรมชาติของคุณในฐานะเป็นธรรมชาติของ “จิตหนึ่ง” (the One) ถ้าขณะที่คุณเจริญสมาธิอยู่ คุณไม่รับรู้ว่ามีความไม่เป็นธรรมในสังคม ไม่รับรู้ว่า ผู้คนกำลังล้มตายลงทุกวี่วัน นั่นก็หมายถึงว่า คุณไม่ได้มองเห็นธรรมชาติเดิมแท้ของคุณเลย นั่นเพราะว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทั้งหมด ล้วนเป็นอาการแสดงออกของจิตสำนึกร่วมของพวกเรา เป็นธรรมชาติเดิมแท้ของพวกเรา.

Tricycle : ดั้งนั้น คำสอนของท่านส่วนใหญ่จึงดูเหมือนจะเกี่ยวกับเรื่องของความประพฤติปฏิบัติตน

นัท ฮันห์ : ทำไมไม่พูดว่าเป็น “ชีวิตประจำวัน” หรือเป็น “การเป็นอยู่ในปัจจุบันขณะและสนองตอบกับสิ่งที่เป็นอยู่?

Tricycle : เอ่อ... อย่างเช่น ท่านพูดถึงเรื่องการเป็นอยู่อย่างมีความสุขเอาไว้มากมาย ราวกับว่าการพยายามอย่างมากที่สร้างความสุขนั้นเป็นประโยชน์โดยตัวมันเอง ขณะที่ “ชีวิตประจำวัน” อีกมากมายดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความโกรธ ความท้อแท้ และสิ้นหวัง

นัท ฮันห์ : อาตมาสังเกตว่าผู้คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับมิติด้านลบ กับสิ่งที่ผิดพลาดมากเกินไป พวกเขาไม่ได้สัมผัสสิ่งที่ไม่ผิดพลาดอย่างเพียงพอ ก็เหมือนกับนักจิตบำบัด ทำไมไม่ลองดูวิธีอื่นล่ะ มองเข้าไปในตัวของผู้ป่วยและค้นหาสิ่งที่ดี ๆ โดยการสัมผัสสิ่งเหล่านั้นและทำให้มันเบ่งบานขึ้นมา? ตื่นขึ้นมาในตอนเช้า คุณสามารถระลึกรู้ว่า “ฉันมีชีวิตอยู่” และมีเวลา ๒๔ ชั่วโมงเพื่อใช้ชีวิต เพื่อเรียนรู้การมองสรรพชีวิตด้วยสายตาแห่งความกรุณา ถ้าหากคุณระลึกว่าคุณมีชีวิตอยู่ และคุณมีเวลา ๒๔ ชั่วโมงเพื่อที่จะสร้างความสุขใหม่ ๆ ขึ้นมา เท่านี้ก็อาจจะเพียงพอที่จะทำให้คุณมีความสุข และผู้คนที่อยู่รอบข้างคุณก็มีความสุข นี่คือการปฏิบัติเพื่อความสุข

Tricycle : เป็นการยากมากที่จะจินตนาการว่า คนที่ออกมาจากประเทศเวียดนามเช่นเดียวกับท่านนั้น จะเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงจากความโกรธ ท่านคิดว่าตัวเองเป็นอิสระจากความโกรธหรือไม่คะ?

นัท ฮันห์ : คุณต้องปฏิบัติเพื่อขจัดความกลัวออกไป เพื่อช่วยให้ความไม่โกรธมีชัยชนะเหนือความโกรธ ความไม่โกรธเป็นสังขารฝ่ายกุศลซึ่งคุณสัมผัสได้ เมื่อคุณเห็นอยู่ว่าประเทศทั้งประเทศของคุณกำลังถูกทำลายล้าง ประชาชนเป็นล้าน ๆ ต้องตายไป เป็นธรรมดาที่คุณจะต้องโกรธ แต่ด้วยการปฏิบัติชนิดที่มองให้ลึกลงไป คุณย่อมเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่คนอื่นมองไม่เห็น คุณย่อมเห็นว่าทหารอเมริกันเองก็หวั่นกลัวเสียขวัญเช่นเดียวกัน และด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงทุ่มระเบิดลงไปมากมาย พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นข้างล่างนั่น เมื่อลูกระเบิดเปรี้ยงปร้างขึ้นมา หากคุณฝึกพิจารณาอย่างลึกซึ้ง คุณจะถามว่า ทหารเหล่านี้มาที่นี่ทำไม? พวกเขามาที่นี่ด้วยเจตนาที่จะเข่นฆ่ากระนั้นหรือ? มาเพื่อทำลายล้างประเทศของเราหรือ? หากคุณได้ติดต่อกับทหารเหล่านี้ คุณจะเห็นว่าพวกเขาต่างก็ถูกส่งมาเพื่อฆ่าหรือเพื่อถูกเข่นฆ่า และเห็นต่อไปว่าทหารเวียดนามเองก็ไม่ต้องการถูกฆ่า ไม่ต้องการฆ่า แต่ถูกบังคับให้ต้องทำเช่นนั้น เมื่อคุณฝึกพิจารณา คุณจะเห็นว่า สาเหตุด้านลึกของสงครามก็คือ ตัวนโยบายที่มีรากฐานอยู่บนความรับรู้ที่ผิดพลาดในสถานการณ์ ทั้งสถานการณ์เกี่ยวกับประเทศเวียดนามเอง และในโลก ดังนั้นความรับรู้ที่ผิดพลาดจึงเป็นอาชญากรตัวจริง

Tricycle : ท่านยังรู้สึกโกรธสิ่งต่าง ๆ อยู่อีกหรือไม่? —ไม่ว่าจะเป็นสงครามเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว หรือเหตุการณ์ร่วมสมัยที่เกิดขึ้น ท่านยังต้องฝึกฝนปฏิบัติธรรมเพื่อขจัดความโกรธอยู่อีกหรือคะ?

นัท ฮันห์ : เมล็ดพันธุ์ของความโกรธยังอยู่มีอยู่เสมอ แต่เมื่อคุณสังเกตเห็นมัน เมื่อคุณพร้อมจะเข้าใจอยู่เสมอ ความโกรธเหล่านั้นก็ไม่มีโอกาสปรากฏ และความเข้าใจก็จะเป็นอะไรบางอย่างที่อาศัยอยู่กับคุณ ส่วนการถือศีล การเจริญภาวนา ก็จะช่วยคุณให้มีความเข้าใจที่ลุ่มลึกยิ่งขึ้นตลอดเวลา คุณทราบมั้ยในประเทศเวียดนาม เมื่อคุณนั่งอยู่ในช่วงสงคราม ขณะที่คุณนั่งอยู่ในศาลากรรมฐาน และได้ยินลูกระเบิดตกลงมา คุณต้องตระหนักรู้ว่า ระเบิดกำลังหล่นลงมาและประชาชนกำลังล้มตาย นี่คือส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรม สมาธิภาวนาหมายถึง การตระหนักรู้ถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ ทั้งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย กับความรู้สึก และกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวคุณ แต่ถ้าคุณเห็นสิ่งนี้และไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย แล้วการตระหนักรู้ของคุณไปอยู่เสียที่ไหนล่ะ? การบรรลุธรรมของคุณจะไปอยู่ตรงไหน? —ความเมตตากรุณาของคุณอยู่ที่ไหน? หากไม่ต้องการจะหลงทิศหลงทาง คุณต้องฝึกฝนปฏิบัติในท่ามกลางสิ่งเหล่านั้นต่อไปให้ได้ แต่คงไม่มีใครสามารถทำอย่างนั้นได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงในวันหนึ่ง ๆ หลังจากการพูดคุยกับคนที่ประสบทุกข์อย่างลึกล้ำเหล่านี้ ๒–๓ คน อาตมาพบว่า อาตมารู้สึกถึงความจำเป็นในการหลีกเร้นเพื่อที่จะฟื้นใจตัวเอง

Tricycle : ท่านได้กลายเป็นที่ชื่นชมของคนจำนวนมาก ดิฉันได้ยินคนเหล่านั้นพูดกันว่า “ท่านติช นัท ฮันห์ เป็นขบวนการเคลื่อนไหว หาใช่ครูบาอาจารย์ไม่”

นัท ฮันห์ : นั่นไม่ใช่ความรู้สึกของอาตมา อาตมามองตัวเองในฐานะครูผู้เกียจคร้าน ในฐานะพระภิกษุที่ขี้เกียจมาก ๆ รูปหนึ่งเท่านั้น

Tricycle : ดิฉันไม่คิดว่า ผู้คนจำนวนมากจะมองท่านเช่นนั้นค่ะ

นัท ฮันห์ : อาตมามีเวลามากโขให้ตัวเอง นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ธรรมชาติของอาตมาก็คือ อาตมาไม่ชอบทำให้ผู้คนผิดหวัง และเป็นเรื่องยากสำหรับอาตมาเมื่อต้องบอกปฏิเสธคำเชื้อเชิญต่าง ๆ แต่อาตมาก็เรียนรู้ในข้อจำกัดของตัวเอง เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ และรู้จักที่จะหลีกเร้นไปอยู่ในสู่อาศรมของตัวเอง เพื่อมีเวลาสำหรับเดินจงกรม นั่งเจริญภาวนา มีเวลากับการทำสวน อยู่กับดอกไม้และสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ อาตมาไม่ได้ใช้โทรศัพท์มาถึง ๒๕ ปีแล้ว ตารางเวลาของอาตมานั้นอิสระไร้กฎเกณฑ์ เป็นสิทธิพิเศษ บางครั้งอาตมาก็นึกถึงบาทหลวงคาธอลิกในประเทศเนเธอแลนด์ท่านหนึ่ง ที่ต้องเฝ้าโทรศัพท์อยู่ตลอดเวลา อาตมาถามว่า “ทำไมท่านถึงต้องทำเช่นนั้น?” ท่านบอกว่า “ผมไม่มีสิทธิเลิกติดต่อกับประชาชนของผม” เอาล่ะ ในกรณีนี้ คุณจำเป็นต้องมีผู้ช่วย นั่นเพราะว่าคุณไม่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปได้เรื่อย ๆ หากคุณไม่ดูแลตัวเอง ความสงบมั่นคงของคุณ อิสรภาพของคุณ ความสุขของคุณ เป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อคนอื่น ๆ การดูแลตัวเองอย่างดีจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก อาตมาเรียนรู้ที่จะคุ้มครองตัวเอง อันนี้ไม่ได้หมายความว่า อาตมาต้องใจร้ายกับประชาชน แต่เวลาสอนธรรมะแก่ผู้มีอาชีพที่จะต้องช่วยเหลือผู้อื่น อาตมามักพูดเสมอว่า “คุณทำงานหนักมาก คุณหมอ คุณพยาบาล และคุณนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมทั้งหลาย พวกคุณทำงานหนักเกินไป ถ้าหากคุณเครียดมากเกินไป คุณจะเคลื่อนต่อไปไม่ได้ คุณจะสูญเสียพลัง ดังนั้นกรุณาหาหนทางด้วยวิธีการใดก็ได้ เพื่อที่จะปกป้องคุ้มครองตัวคุณเอง เข้ามาปรึกษาหารือกัน ถึงยุทธศาสตร์ในการคุ้มครองตัวเอง มิฉะนั้นแล้ว คุณจะไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้เป็นเวลานาน ๆ” เนื่องจากอาตมากระตุ้นให้คนอื่น ๆ ทำเช่นนี้ ดังนั้นอาตมาจึงต้องทำกับตัวเองด้วย

Tricycle : ท่านมักจะได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งพุทธศาสนาเพื่อสังคม” แต่มีข้อสงสัยว่า ขบวนการพุทธศาสนาเพื่อสังคมในสหรัฐอเมริกานั้น ต่างไปจากสิ่งที่ท่านกำลังพูดถึงเกี่ยวกับชีวิตของท่านเองเป็นอย่างมาก นั่นคือ ผู้คนไม่ได้หันมาดูแลตัวเขาเองด้วยการฝึกฝนปฏิบัติอย่างเพียงพอ ดูเหมือนจะมีความสับสนเกี่ยวกับงานของท่านในเรื่องนี้ ความเข้าใจหมู่ชาวตะวันตกกลับเป็นว่าการทางสังคม ก็คือ การปฏิบัติธรรม กลายเป็นว่า ปฏิบัติการทางสังคมเข้ามาแทนส่วนเจริญภาวนา

นัท ฮันห์ : โอ... ในสถานการณ์อันยุ่งยากเช่นสถานการณ์ท่ามกลางสงคราม คุณไม่สามารถตัดตัวเองออกจากสังคมที่ทนทุกข์นั้นได้ คุณต้องสัมพันธ์กับพวกเขา และทำอะไรก็ได้เท่าที่คุณสามารถช่วยได้ ทุก ๆ คนสามารถหาเวลาที่จะนั่ง เดิน รับประทานอาหารอย่างมีสติ หรือกินอาหารในความเงียบคนเดียวหรือกับชุมชนก็ได้ ถ้าหากคุณละเลยสิ่งพื้นฐานเหล่านี้ คุณจะเรียกตัวเองว่าเป็นพุทธบริษัทผู้ปฏิบัติธรรมได้อย่างไร? หากคุณฉลาด คุณจะพบเวลามากมายสำหรับการฝึกฝนในวันหนึ่ง ๆ แม้กระทั่งในระหว่างการปรุงอาหารเย็น หรือการชงชาก็เถอะ ไม่ได้มีเส้นแบ่งระหว่างการปฏิบัติกับการไม่ปฏิบัติ

สำหรับผู้ที่เอาแต่พูดถึงมัน อาตมาไม่มีอะไรจะบอกกล่าว แต่กับผู้ที่ต้องการปฏิบัติอย่างจริงจัง อาตมาอยากบอกว่ามันเป็นไปได้ที่จะฝึกเจริญภาวนาตลอดทั้งวัน แม้กระทั่งในขณะเดินอยู่ ๓ ก้าว ๕ ก้าวของอาตมา ๆ ก็ถือเป็นการฝึกเดินจงกรมไปด้วยเสมอ อาตมาฝึกฝนอย่างนี้ ไม่ใช่เอาแต่พูดถึงมันเท่านั้น แม้กระทั่งในช่วง ๑๐๐ วันแห่งการเดินทางในอเมริกาเหนือ ที่สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นั้นยากต่อการปฏิบัติอย่างที่สุด อาตมาก็ยังได้ทำ

Tricycle : สิ่งแวดล้อมในอเมริกาเหนือยากต่อการปฏิบัติอย่างที่สุดหรือคะ?

นัท ฮันห์ : ใช่สิ เพราะมันยุ่งมาก ผู้คนรีบร้อนกันเหลือเกิน ในช่วง ๑๐๐ วันแห่งการสั่งสอนในคอร์สอบรมภาวนาและการบรรยายธรรมต่าง ๆ นั้น อาตมาตามดูลมหายใจ และฝึกเดินจงกรมอยู่เสมอ แม้แต่ที่สนามบินก็เถอะ

Tricycle : ความแตกต่างของการเดิน ๓ ก้าวอย่างมีสติกับ ๓ ก้าวที่ไม่มีสติคืออะไรคะ?

นัท ฮันห์ : การเดินที่มีสติเป็นการเดินชนิดที่คุณรู้ว่ากำลังเดินอยู่ คุณรู้ตัวกับทุกย่างก้าว มีความมั่นคง มีสติ เป็นความรู้ตัวว่าคุณมีชีวิตอยู่ — รู้ว่าคนที่กำลังเดินอยู่คือคุณไม่ใช่ผี คุณมีชีวิตอยู่อย่างเต็มเปี่ยม คุณก้าวเดินไม่ใช่แค่ไปให้ถึงที่ไหนสักแห่ง แต่เดินเพื่อดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะหนึ่งเดียวในทุก ๆ ก้าวที่เหยียบย่างลง

Tricycle : เป็นไปได้ไหมคะว่า พุทธศาสนาเพื่อสังคม ในทวีปอเมริกาเหนือที่กำลังแพร่อยู่ในสหรัฐอเมริกา จะก่อให้เกิดพุทธศาสนาที่เจือจางลง อย่างที่คนบางกลุ่มเรียกว่า “Buddhism Lite”

นัท ฮันห์ : อาตมาคิดว่าทุกอย่างเป็นไปได้ สิ่งต่างๆ อาจจะออกมาเป็นเช่นนั้น ถ้าคุณฝึกฝนปฏิบัติทุกอย่างก็ถูกต้อง คำถามก็คือ ผู้คนได้ปฏิบัติเพียงพอหรือไม่? พุทธศาสนาเพื่อสังคม เชื่อมโยงสัมพันธ์กับสังคม ก็เพราะว่า คุณถูกกระตุ้น หรือส่งเสริม ให้นั่งเจริญภาวนา เพื่อสร้างความสุข และความสงบมั่นคง ให้ตัวคุณเอง และผู้คนที่อยู่รอบข้างคุณ

บางครั้งอาตมาพูดว่า “นั่งเพื่อพ่อของเธอ นั่งเพื่อแม่ของเธอ เพื่อน้องสาวพี่สาวของเธอ นั่งเพื่ออาตมา” เพราะว่าเมื่อเธอนั่งในลักษณะอย่างนั้นเธอย่อมได้รับความสุข ความสงบตั้งมั่น และบรรพบุรุษของเธอทั้งหมดที่อยู่ในตัวเธอก็ย่อมได้รับความสงบสุขไปด้วย ถ้าอาตมาซึ่งเป็นครูของเธอ เกิดไม่สบายในวันนั้น เธอก็นั่งเพื่ออาตมาด้วย เพราะผลจากการนั่งภาวนาของเธอ ย่อมเป็นประโยชน์แก่พวกเราทุกคน ดังนั้นการนั่งเงียบ ๆ ในศาลากรรมฐานคนเดียว หรือนั่งร่วมกับชุมชน ก็ย่อมเป็นพุทธศาสนาเพื่อสังคมด้วยอย่างเสร็จสรรพ เมื่อคุณยิ้ม นั่นก็เป็นพุทธศาสนาเพื่อสังคม เพราะว่าการแย้มยิ้มเช่นนั้น ก็คือการผ่อนคลายและนำความสุขมาให้ เมื่อคุณยิ้ม บรรพบุรุษทั้งหมดยิ้มด้วยกับคุณ ลูก ๆ ของคุณและหลาน ๆ ของคุณก็เช่นเดียวกัน และถ้าคุณสามารถยิ้มออกมาได้ ก็เท่ากับว่าคุณกำลังสร้างสังฆะขึ้นด้วยการแย้มยิ้มนั้น คนที่ยิ้มแย้มอยู่เสมอนั้นสำคัญมากต่อชุมชนสังฆะ เมื่อบุคคลเช่นนี้มาเยี่ยมชุมชนของคุณ ด้วยความสุข ด้วยความสดใหม่นั้น คุณก็จะเชื้อเชิญให้เขาหรือเธอพักอยู่ด้วย เพราะสิ่งนี้เป็นนิมิตดีต่อชุมชนของคุณ ความสุขของผู้คนเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในโลก เหตุนี้ พุทธศาสนาเพื่อสังคม จึงหมายความว่า เมื่อคุณนั่งภาวนาหรือเดินจงกรมอยู่ในอารามนั้น ไม่ใช่แค่ทำเพื่อสิ่งที่เรียกกันว่า “ตัวตน” ของคุณเองเท่านั้น แต่คุณทำเช่นนั้นในทุกสถานที่ ๆ คุณอยู่และทำเพื่อสังคมทั้งหมดด้วย

Tricycle : เดี๋ยวนี้ในสหรัฐอเมริกาหลายคนพูดถึง “พุทธศาสนาเพื่อสังคม” ราวกับถอดแบบมาจากงานการกุศลแบบคริสต์ คือทำโดยเข้าใจว่าคุณจะ ”เชื่อมโยงกับสังคม” ก็ต่อเมื่อคุณทำงานกับคนไร้ที่อยู่อาศัย ต่อเมื่อคุณทำงานกับโครงการผู้ป่วยโรคเอดส์

นัท ฮันห์ : อาตมาคิดว่า เราจำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ ช่วยอธิบายเพิ่มเติม ในเรื่องพุทธศาสนาเพื่อสังคม หนึ่งในหลายชิ้นงาน ที่อาตมาพยายามทำมาอย่างต่อเนื่องก็คือ กระตุ้นให้ผู้คนก่อตั้งชุมชนสังฆะขึ้นมา มีการปฏิบัติประเภทหนึ่งซึ่งเราเรียกว่า “การสร้างสังฆะ” การสร้างสังฆะนั้นสำคัญอย่างยิ่งยวด หากคุณอยู่โดยปราศจากสังฆะ คุณจะละทิ้งการปฏิบัติไปอย่างรวดเร็ว ในธรรมเนียมของเรา ๆ กล่าวว่า ปราศจากสังฆะคุณก็เป็นเหมือนเสือโคร่งที่ละทิ้งดงดอยมาอยู่พื้นราบ ซึ่งที่สุดจะถูกพวกมนุษย์จับฆ่า

หากคุณปฏิบัติธรรมโดยปราศจากชุมชนสังฆะ ก็เท่ากับว่า คุณกำลังทอดทิ้งการปฏิบัติของคุณนั่นเอง ไม่ว่าคุณจะเป็นนักจิตบำบัด เป็นหมอ พยาบาล เป็นคนทำงานเพื่อสังคม ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณจะอยู่รอดได้ในฐานะผู้ปฏิบัติธรรมก็ต่อเมื่อคุณมีชุมชนสังฆะ ดังนั้น การสร้างชุมชนสังฆะ จึงเป็นสิ่งแรกที่คุณต้องทำ นี่คือสิ่งที่พวกเราพูดย้ำกระตุ้นเตือนเสมอเวลามีการอบรมสมาธิภาวนา อย่างในวันสุดท้ายของการอบรม เราจะจัดให้มีช่วงของการสร้างชุมชนสังฆะ เราบอกว่าสิ่งแรกที่คุณควรจะทำ เมื่อกลับไปถึงบ้าน หลังจากเสร็จการอบรม ก็คือการสร้างสังฆะขึ้นมา เพื่อให้การปฏิบัติต่อเนื่องไปได้ ถ้าตัวคุณแวดล้อมไปด้วยชุมชน คุณจะมีโอกาสนั่งร่วมกัน เดินร่วมกัน ได้เรียนรู้ร่วมกัน คุณก็จะไม่ทิ้งการปฏิบัติ มิฉะนั้น ในเวลาแค่ ๒-๓ สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน คุณจะทอดทิ้งมันไป และคุณจะไม่พูดถึงมันอีกเลย —ทั้งพุทธศาสนาเพื่อสังคมและไม่ใช่เพื่อสังคม จะไม่มีการปฏิบัติอีกสักอย่างเดียว แม้อาตมาจะพูดถึงพุทธศาสนาเพื่อสังคม แต่อาตมาก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในลักษณะของชาววัด และอาตมาก็รู้สึกสัมพันธ์กับสังคมอย่างยิ่ง อาตมาไม่ได้รู้สึกตัดขาดจากใคร ๆ.

คัดลอกจาก : สมาคมคนน่ารัก
Link : http://khonnaruk.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม