วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การฟังอย่างลึกซึ้ง : Deep Listening




บันทึกจากปาฐกถาธรรม "สู่ศานติสมานฉันท์ : ความรักอันไม่แบ่งแยก"
วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม 2550 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
โดย สุภัทร สิริวงษ์

          การอยู่ด้วยกันไม่ใช่เป็นเพราะเราอยู่บ้านเดียวกัน ไม่ใช่เพราะว่าเราเป็นพุทธศาสนิกชนเหมือนกัน เราจึงสามารถรักกันได้ เพราะชาวพุทธ ด้วยกันทะเลาะกันก็มี และไม่ใช่ว่าชาวปาเลสไตน์กับอิสราเอลจะอยู่ร่วมกันไม่ได้

          ในหมู่บ้านพลัมเราได้เคยนำชาวปาเลสไตน์กับชาวอิสราเอล มาปฏิบัติร่วมกัน อยู่ร่วมกันกับพวกเรา ในช่วงแรกต่างฝ่ายต่าง ก็ไม่เชื่อถือกัน ทั้งสองต่างก็มีความกลัว ความเกลียด ความระแวงสงสัย ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถมองหน้ากันและกันได้ ในช่วงแรก เราให้ทั้ง 2 ฝ่าย ปลดปล่อย ความตึงเครียดด้วยการอยู่กับลมหายใจ มีสติในการเดินและการนั่ง เพื่อตระหนักรู้ในความทุกข์ และ ความเจ็บปวด

          ในสัปดาห์ที่ 2 เราเปิดโอกาสให้เขาได้ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ใช้วาจาแห่งสติ วาจาแห่ง ความรัก เพื่อให้เขาได้รับฟังความทุกข์ ความยากลำบากของอีกฝ่าย นำความโกรธ ความกลัว มาบอกเล่าว่าเขาระแวงสงสัยอะไรบ้าง การฟังอย่างกรุณาจะช่วยให้อีกฝ่ายมีความทุกข์น้อยลง


          มีผู้คนมากมายที่มีความทุกข์ใหญ่หลวงแต่ไม่มีใครฟังเขาอย่างลึกซึ้ง นั่นจึงเป็น เหตุผลว่า ทำไมเขาจึงต้องหันไปหานักจิตบำบัด เพื่อหาใครสักคนที่จะรับฟังเขาอย่าง ลึกซึ้ง การฟังอย่างลึกซึ้งจะช่วยให้อีกฝ่ายระบายความทุกข์ออกมา การฟังอย่างลึกซึ้งมี จุดมุ่งหมายเพียงประการเดียวคือ เพื่อปลดปล่อยให้อีกฝ่ายมีความทุกข์น้อยลง การฟัง อย่างลึกซึ้งคือความเมตตา กรุณา เราควรบ่มเพาะความเมตตากรุณาในสวนแห่งจิตใจ ของเราเสมอ

          ในขณะที่เราฟัง เราอาจได้ยินถ้อยคำที่เต็มไปด้วยการตำหนิ วาจาเหล่านั้นอาจ รดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธ ความไม่พอใจของเรา จนเรารู้สึกว่าจะไม่สามารถทนฟัง ต่อไปได้ เพราะวาจาเหล่านั้นเต็มไปด้วยข้อมูลที่ผิด เขาเข้าใจผิด ขอให้เราตระหนักรู้ เรียนรู้การฟังอย่างลึกซึ้ง ตามลมหายใจเข้าและออก รักษาจิตใจแห่งความกรุณา บอกกับ ตนเองว่า เรากำลังอยู่ในชั่วโมงการฟังอย่างลึกซึ่ง ฟังอีกฝ่ายที่มีความทุกข์ ให้เขาได้ ระบายออก หากเราฝึกสิ่งเหล่านี้ได้ เราก็จะได้รับการปกป้องจากความเมตตา กรุณา เช่นกัน          


          เราจะไม่หยุดคำพูดของเขา ไม่สวนกลับ ไม่โกรธ เราจะฟังอย่างนิ่งสงบ เราจะยัง ไม่พูดว่าเธอผิด แม้ว่าเราจะรู้ว่าเขาพูดผิด เขามีข้อมูลที่ผิด เราจะยังไม่แก้ไขสิ่งเหล่านั้น ทันที แต่จะรออยู่ สัก 2-3 วัน จึงค่อยแก้ไขข้อผิดพลาด เพราะในระหว่างการฟัง อารมณ์ ของเราอาจยังไม่ปราณีตแยบคายเพียงพอ ฉะนั้นในช่วงท้ายของการฟังอย่างลึกซึ้ง เราอาจกล่าวขอโทษอีกฝ่ายก็ไม่มีอะไรเสียหาย ในขณะที่เราพูด เราอาจรู้ว่าแท้จริงแล้ว เราก็ผิดด้วย เราเองก็อาจมีความคิดเห็นที่ผิด จึงแสดงปฏิบัติกิริยาที่ไม่ดีต่ออีกฝ่าย เรา อาจจะขอบคุณอีกฝ่าย ที่เขาบอกเล่าถึงความทุกข์ของเขาให้เราได้รับรู้


          แม้ว่าในขณะนั้นเราสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงได้ แต่เราจะใช้เวลาอีก 2-3 วัน จึงจะ บอกเล่า เราไม่ควรพยายามยืนยันข้อมูลทันที ในช่วงที่อีกฝ่ายยังไม่สามารถรับข้อมูลได้ แม้เราจะรู้ว่าข้อมูลที่เขาพูดมานั้นผิดทั้งหมด ความเป็นจริงนั้นเปรียบเสมือนยาที่ดี แต่การ ให้ยาดีมีประสิทธิภาพสูง ก็ต้องรู้ว่าคนไข้มีความสามารถรับยาได้ในปริมาณแค่ไหน การให้ยาที่ดีมากเกินไปในคราวเดียว ก็เปรียบเสมือนการให้ยาที่มากเกิน (over doze) คนไข้อาจตายได้ เช่นเดียวกัน บางทีการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ก็ต้องมีการตระเตรียม เราจะ ไม่พูดออกไปครั้งเดียวทั้งหมด เราต้องค่อยๆ กล่าว การฟังอย่างมีสติ จะทำให้สองฝ่าย ค่อยๆ เข้าใจกัน เมื่อแต่ละฝ่ายเห็นความทุกข์ของกันและกัน ก็จะช่วยปลดปล่อยความ โกรธ เกลียด ที่มีต่อกันได้ และสามารถมองอีกฝ่ายด้วยสายตาแห่งความกรุณา โดยมี ความเข้าใจเป็นพื้นฐาน สิ่งเหล่านี้ ชาวปาเลสไตน์และอิสราเอลปฏิบัติได้


          ในช่วงวันสุดท้าย เราให้แต่ละฝ่ายขึ้นเวทีเพื่อรายงานผลของการฝึกปฏิบัติ ซึ่ง แต่ละฝ่ายทำได้อย่างดี และสิ่งเหล่านี้พวกเราทุกคนก็สามารถฝึกปฏิบัติได้ มิใช่เพียง ชาวปาเลสไตน์ และ อิสราเอลเท่านั้น
--------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : http://www.thaiplumvillage.org/act500529_news04.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม