Thich Nhat Hanh |
เมืองบอร์กโดซ์ (Bordeaux) ประเทศฝรั่งเศส
ท่านติช นัท ฮันห์ มีนามเดิมว่า เหงียน ซวน เบ๋า (Nguyen Xuan Bao) เกิดเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2469 ที่จังหวัดกวงสี ในตอนกลางของประเทศเวียดนาม ฉายาของท่านเมื่อบวชแล้วคือ ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh)
“ติช” ในเวียดนามเป็นคำเรียก พระ แปลว่า “แห่งศากยะ” คือ ผู้สืบทอดพุทธศาสนา “นัท ฮันห์” แปลว่า“สติอยู่กับปัจจุบันขณะ” คือ การกระทำเพียงหนึ่ง (One Action) ดังนั้น “ติช นัท ฮันห์” จึงแปลว่า ผู้สืบทอดพุทธศาสนาอันสติอยู่กับปัจจุบันขณะ หมู่ลูกศิษย์ในทางตะวันตก เรียกท่านว่า “Thay” (ไถ่) ซึ่งในภาษาเวียดนามมีความหมายว่า “ท่านอาจารย์”
ในปี พ.ศ.2485 เมื่ออายุได้ 16 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดตื่อฮิ้ว (Tu Hieu) วิถีชีวิตในวัดเซนแห่งนี้เป็นรากฐานอันสำคัญต่อชีวิตนักบวชของท่าน สามเณรต้องเรียนรู้การมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะ ในทุกการกระทำ อาจารย์ได้มอบหนังสือเล่มเล็กๆ กำชับให้ศึกษาหนังสือนั้นจนกว่าจะเข้าใจ “การนำสารัตถะแห่งพระวินัย มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน” เป็นตอนแรกของคู่มือเล่มเล็กนั้น กล่าวถึง อากัปกิริยาของพระฝึกหัดจะต้องเกิดขึ้นพร้อมไปกับสัมมาสติ หรือการกำหนดรู้ในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.2492 เมื่ออายุ 23 ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพุทธศาสนา ฝ่ายมหายานนิกายเซน จากนั้นจึงเดินทางไปไซ่ง่อนเพื่อช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนา
ท่านติช นัท ฮันห์ มีความคิดว่า พุทธศาสนาต้องรับใช้สังคม หรือพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Engaged Buddhism) จะมัวเจริญสติเจริญภาวนาอยู่ในวัดอย่างเดียวไม่ได้ ท่านจึงช่วยเหลือผู้คนและสังคมด้วยวิถีแห่งสติและสันติตามแนวทางพุทธศาสนา ช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนาให้เข้ากับยุคสมัย รวมทั้งเขียนบทความทางพุทธศาสนา แต่กลับถูกผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลเวียดนามต่อต้านเป็นอย่างมาก
ในปี พ.ศ.2505 ท่านเดินทางไปศึกษาต่อด้านศาสนาเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากได้รับทุน จากนั้น 1 ปี ในราวปี พ.ศ.2506 ท่านได้เป็นผู้บรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่ท่านตัดสินใจกลับเวียดนาม เพื่อช่วยสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทกับมหายานในเวียดนามใต้ ดำเนินการตั้งโรงเรียนยุวชนรับใช้สังคม เพื่อรักษาสังคมและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากสงครามเวียดนาม พยายามสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ด้วยการสานต่อแนวคิดเรื่องพุทธศาสนาที่ผูกสัมพันธ์กับสังคม และพัฒนาวงการสงฆ์ด้วยการสอนและเขียนในสถาบันพุทธศาสนาขั้นสูง เป็นการบ่งบอกถึงแนวคิดของท่านว่า การกระทำและปัญญาต้องก้าวไปด้วยกัน (action and wisdom must go together)
เมื่อถึงปี พ.ศ.2509 ท่านได้จัดตั้ง “คณะเทียบหิน” เป็นกลุ่มสังฆะประกอบด้วยภิกษุ-ภิกษุณี และฆราวาส ปฏิบัติตนตามหลัก 14 ข้อ ซึ่งครอบคลุมการดำเนินชีวิตในสังคมสมัยใหม่
ในปีเดียวกันท่านติช นัท ฮันห์ กลับไปสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เพื่อร่วมการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับพุทธศาสนาในเวียดนามที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ รวมถึงพยายามทำให้สังคมมีสันติภาพ ด้วยการกระตุ้นให้คนไม่ว่าชาติใดก็ตามเห็นถึงความสำคัญของสันติภาพ ท่านตระหนักว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการการต่อสู้เพื่อสันติภาพ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือหยุดการสนับสนุนสงครามและมุ่งเน้นสันติภาพ โดยปลุกจิตสำนึกต่อคนทั่วโลก
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.)
กระทั่ง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกา ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (Nobel Peace Prize) เมื่อปี พ.ศ.2507 ได้เสนอนามท่านติช นัท ฮันห์ เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี พ.ศ.2510
ผลของการทำงานและการเคลื่อนไหวต่างๆ ของท่านติช นัท ฮันห์ ส่งผลให้รัฐบาลเวียดนามใต้ไม่อนุญาตให้ท่านกลับเข้าประเทศ ท่านจึงต้องลี้ภัยอย่างเป็นทางการในประเทศฝรั่งเศส โดยสอนประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเวียดนามที่มหาวิทยาลัย และสร้างอาศรมแห่งหนึ่งนอกเมืองปารีส เพื่อเขียนหนังสือและปลูกพืชผักสมุนไพร ซึ่งท่านติดต่อลับๆ กับพระภิกษุที่ถูกจำคุกในเวียดนาม เพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ระหว่างนั้นท่านยังคงทำงานเพื่อสันติภาพและผู้ลี้ภัย ควบคู่ไปกับการนำธรรมสู่ผู้คนทุกเชื้อชาติ จากประสบการณ์ของท่านที่ได้พบเห็นชะตากรรมของผู้ลี้ภัยด้วยตนเอง จนสามารถช่วยเหลือผู้คนได้อีกมาก
ในปี พ.ศ.2525 เมื่อผู้มาปฏิบัติธรรมที่อาศรมของท่าน ทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ท่านจึงเริ่มก่อตั้งชุมชนแห่งใหม่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ให้ชื่อว่า หมู่บ้านพลัม (Plum Village) อันเป็นชุมชนแบบอย่างการปฏิบัติธรรมแห่งพุทธบริษัท 4 โดยไม่มีเส้นแบ่งทางศาสนา ที่เน้นการเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างตระหนักรู้ในแต่ละลมหายใจเข้าออก และกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ ซึ่งถือเป็นบ้านของท่านจนทุกวันนี้
ที่มาของชื่อหมู่บ้าน “พลัม” เกิดจากท่านติช นัท ฮันห์ มีความประสงค์จะสร้างชุมชนปฏิบัติธรรมขึ้น ครั้งนั้นมีภิกษุเสนอให้ตั้งชื่อว่า หมู่บ้านโรงเรียนสำหรับหนุ่มสาวเพื่อรับใช้สังคม
แต่ท่านติช นัท ฮันห์ เสนอให้ใช้ชื่อ “หมู่บ้านพลัม” เพราะพื้นที่ดังกล่าวปลูกต้นพลัมนับพันต้น เพื่อให้ออกผลให้ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในฝรั่งเศสเก็บรับประทาน และคำว่า “พลัม” ฟังดูน่ารักและเบาสบาย เหมาะเป็นที่พักทางจิตวิญญาณ
ในช่วงแรกหมู่บ้านพลัม (Plum Village) เป็นแหล่งพักพิงของผู้ลี้ภัย ในช่วงการปรับตัวก่อนเข้าสู่สังคมใหม่ในประเทศใหม่ ปัจจุบันหมู่บ้านพลัมได้ต้อนรับผู้คนมากมายในการปฏิบัติสมาธิภาวนา และได้เริ่มมีสมาชิกเป็นนักบวชตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 ซึ่งในปี พ.ศ.2549 มีสมาชิกเป็นนักบวชทั้งภิกษุและภิกษุณีกว่าห้าร้อยคน มาจากยี่สิบกว่าประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่มาอยู่ที่หมู่บ้านพลัม เมืองบอร์กโดซ์ ในประเทศฝรั่งเศส, ที่ Green Mountain Dharma Center รัฐเวอร์มอนต์ และ Deer Park Monastery รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และที่วัดบัทหงา เมืองบ๋าวหลอบ และวัดตื่อฮิ้ว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม
ในปัจจุบัน ชุมชนปฏิบัติธรรมแห่งสังฆะหมู่บ้านพลัม มีทั้งสิ้น 12 แห่ง กระจายอยู่ในประเทศฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา, เยอรมัน และเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางของท่านติช นัท ฮันห์ กระจายอยู่อีกหลายประเทศทั่วโลกเกือบหนึ่งพันกลุ่ม อาทิเช่น
- Upper Hamlet, Lower Hamlet, New Hamlet, Son Ha กระจายตัวอยู่ในหมู่บ้านชนบทใกล้เมืองบอร์กโดซ์ (Bordeaux) ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส
- Clarity Hamlet, Solidity Hamlet ที่ Deer Park Monastery, Community of Mindful Living รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
- Green Mountain Dharma Center, Maple Forest Monastery รัฐเวอร์มอนต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
- Blue Cliff Monastery รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา
- วัดบัทหงา เมืองบ๋าวหลอบ และวัดตื่อฮิ้ว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม
จนกระทั่งปี พ.ศ.2548 เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศเวียดนามเข้าสู่ภาวะปกติ หลังไฟของสงครามเวียดนามดับมอดลงไปแล้วถึง 30 ปี ท่านติช นัท ฮันห์ จึงได้เดินทางกลับมาเยือนประเทศเวียดนาม แผ่นดินอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านอย่างเป็นทางการ หลังการจากมาเป็นเวลายาวนานถึง 39 ปี ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับจากประชาชนชาวเวียดนามอย่างอบอุ่น
ถึงตอนนี้ ท่านติช นัท ฮันห์ ยังคงพำนักอยู่ที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส และยังคงเดินทางไปประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก พร้อมด้วยภิกษุและภิกษุณีแห่งหมู่บ้านพลัม เพื่อเผยแผ่ธรรมและนำการเจริญสติเจริญภาวนาแก่ผู้สนใจซึ่งมีเป็นจำนวนมาก
ท่านติช นัท ฮันห์ เคยกล่าวไว้ว่า พุทธศาสนาเป็นวิถีชีวิต เนื่องด้วยคติข้อหนึ่งที่แพร่อยู่ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน คือ วิถีทางแห่งพุทธธรรม คือ วิถีทางแห่งชีวิต ท่านจึงนำธรรมเข้าสู่ชีวิตประจำวัน เช่น ฝึกลมหายใจเพื่อนำสู่ “สติ” และ “สันติ” ไม่ว่าจะในขณะเดิน นั่ง รับประทานอาหาร หรือขณะทำกิจกรรมอื่นๆ เป็นต้น และไม่เพียงแต่ในห้องปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังปฏิบัติในครัว ในห้องน้ำ ในห้องพัก และระหว่างทางเดินด้วย
ในการฝึกปฏิบัติร่วมกันในสังฆะเป็นชุมชน การรับประทานอาหารด้วยกัน (Eating together) ก็เป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง แนวทางปฏิบัติของท่านติช นัท ฮันห์ ระหว่างการรับประทานอาหาร คือ การดำรงอยู่ของเราต่ออาหารทุกมื้อ เมื่อเราตักอาหาร เราก็เริ่มต้นการฝึก เราตระหนักถึงธาตุต่างๆ เช่น สายฝน แสงแดด ผืนแผ่นดิน และความรัก เป็นต้น มาประกอบรวมกันเป็นอาหารอันมหัศจรรย์มื้อนี้ ที่จริงแล้วจากอาหารมื้อนี้ เรามองเห็นถึงจักรวาลทั้งมวลเกื้อหนุนการดำรงอยู่ของเรา
ใน หนังสือปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ (The Miracle of Being Awake) ซึ่งท่านติช นัท ฮันห์ เป็นผู้แต่ง กล่าวไว้ว่า “ในพระสูตรต่างๆ พระพุทธเจ้ามักทรงสอนให้ใช้ลมหายใจบำเพ็ญสติเสมอ มีพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องการใช้ลมหายใจ เพื่อฝึกสติเจริญสมาธิโดยเฉพาะสูตรหนึ่งคือ อานาปานัสสติสูตร
การหายใจเป็นเครื่องมือตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการป้องกันความคิดฟุ้งซ่าน ลมหายใจเป็นสะพานเชื่อมระหว่างชีวิตและจิตสำนึก ทำให้ร่างกายและความคิดเป็นเอกภาพกัน หากเกิดความคิดฟุ้งกระจายไป ผู้ปฏิบัติงานควรใช้ลมหายใจในการรวมจิตเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง เราไม่ควรปล่อยตนเองให้หลงไปในความคิดที่ฟุ้งซ่านและสิ่งแวดล้อมรอบตัว จงเรียนรู้วิธีฝึกลมหายใจ เพื่อจะได้คอยควบคุมจิตใจและร่างกายของเรา ฝึกสติ พัฒนาสมาธิและปัญญา...การตื่นตัวและพร้อมเสมอที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างสามารถและมีไหวพริบ นี่แหละคือความมีสติโดยแท้...” ท่านติช นัท ฮันห์ แนะไว้ในหนังสือปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ
“...การที่เราจะบังคับบัญชาจิตใจ และทำความคิดให้สงบได้นั้น เราจะต้องเจริญสติที่จิตใจด้วย ไม่ใช่ที่ลมหายใจอย่างเดียว นั่นคือ ต้องฝึกมีสติให้รู้พร้อมถึงความรู้สึกต่างๆ (เวทนานุปัสสนา) และรู้พร้อมถึงความคิดต่างๆ (จิตตานุปัสสนา) ด้วย เราต้องรู้วิธีสังเกต และรู้เท่าทันความรู้สึกและความคิดทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา ท่านอาจารย์เซน เดื่อง เจียว ซึ่งอยู่ในช่วงสุดท้ายของราชวงศ์ลี เขียนไว้ว่า
ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมรู้จักจิตใจของตนเองอย่างถ่องแท้ ก็จะเข้าถึงธรรมโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก แต่ถ้าไม่รู้จักจิตใจของตนเองเลย ความพยายามทั้งหมดของเขาก็จะสูญเปล่า มีหนทางเดียวเท่านั้นที่เธอจะรู้จักจิตใจของเธอเองได้ นั่นก็คือการสังเกตและรู้เท่าทัน ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับจิตใจ และต้องฝึกปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาทั้งในชีวิตประจำวัน และในเวลาของการฝึกสมาธิ...” และนี่ก็คือเนื้อหาอีกส่วนหนึ่งในหนังสือปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ
ท่านติช นัท ฮันห์ ยังสอนให้มองทุกอย่างอย่างเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน (interbeing) ไม่มีสิ่งใดที่จะอยู่แยกจากสิ่งอื่นได้ “...บางทีเราอาจจะพูดได้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่จริง มิใช่อยู่อย่างตายซาก ก็ต่อเมื่ออยู่อย่างเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโลก ดังนั้น จงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ความทุกข์ของคนอื่นก็คือความทุกข์ของเรา ความสุขของคนอื่นก็คือความสุขของเรา...” เป็นอีกคำสอนของท่านติช นัท ฮันห์
คนไทยส่วนใหญ่อาจเคยได้ยินนาม “ติช นัท ฮันห์" หรือทำความรู้จักท่านและคำสอนทางธรรมผ่านงานเขียนของท่าน อาทิ “ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ”, “ความโกรธ ปัญญาดับเปลวไฟแห่งโทสะ” (Anger), “สันติภาพทุกย่างก้าว” (Peace Is Every Step), “กุญแจเซน” (Zen Key), “ศานติในเรือนใจ” (Touching Peace), “ปลูกรัก” (Cultivting the Mind of love) ฯลฯ แต่น้อยคนนักที่จะเคยพบท่านในเมืองไทย
ท่านติช นัท ฮันห์ มาเยือนเมืองไทยครั้งแรกเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว คราวที่ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม อาราธนาท่านมายังอาศรมที่วัดผาลาด ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ครั้งนั้นนั่นเองที่ ส.ศิวรักษ์ สนับสนุนให้มีการแปลงานเขียนของท่านติช นัท ฮันห์ เป็นภาษาไทยหลายต่อหลายเล่ม รวมถึงกลุ่มอื่นยังมีการจัดเสวนาในประเด็นที่ว่าด้วยธรรมของท่านติช นัท ฮันห์ อยู่หลายครั้ง ส่งผลให้คนไทยได้ลิ้มรสแห่งธรรมจากท่านติช นัท ฮันห์
ที่มา : http://www.dhammajak.net/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น