วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เฝ้ามองอย่างลึกซึ้ง



เฝ้ามองอย่างลึกซึ้ง
โดย อรุณจิตรา


        หลวงพ่ออยากจะสอนเทคนิคง่ายๆในการมองเข้าไปที่ตัวเราอย่างซื่อตรงแท้จริง ให้เราหากระดาษมาสักแผ่นหนึ่ง แล้วขีดเส้น แบ่งเป็นสองส่วน ด้านซ้ายเขียนถึงคุณสมบัติที่ดีงามของเรา ด้านขวาเป็นคุณสมบัติที่เราควรต้องปรับปรุง ให้เราเขียนอย่างซื่อสัตย์ เช่นด้านซ้ายเราอาจเขียนว่า ฉันเป็นคนสุภาพ ยิ้มง่าย ยิ้มได้บ่อยๆ ส่วนอีกด้าน ก็อาจเป็นความโกรธ ความเศร้า จากนั้นให้เราสังเกตุ ต่อไปหรือเขียนต่อไปว่า ตรงที่เขียนว่าสุภาพนั้น บ่อยไหม ตลอดเวลาหรือไม่ ถ้าตลอดเวลาก็เขียนว่า สุภาพตลอดเวลา แต่ถ้าไม่ ก็อาจเขียนว่า สุภาพ-เป็นครั้งคราว ด้านขวาก็เช่นเดียวกัน โกรธ-เป็นบางเวลา หรือ โกรธ-บ่อยๆ ...การฝึกเขียนสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะ ยามเกิดปัญหา เราจะเห็นม้าของเราได้ชัดเจนขึ้น


องค์ประกอบของการตรัสรู้ก็คือ        


1. หยุดให้เป็น        
2. มองอย่างลึกซึ้ง



เราทุกคน ต่างก็มีก้อนทุกข์อยู่ 
การฝึกมองอย่างลึกซึ้ง 
ถึงก้อนทุกข์นั้น 
จะเป็นการช่วยให้เรา 
สลายความทุกข์นั้นได้ 
เราต้องหาจุดหลอมละลาย (Melting Point) 
ก้อนทุกข์ของเราให้เจอ 
ซึ่งต้องอาศัย
การมองอย่างลึกซึ้ง 
ไม่ใช่ด้วยความคิด 
บ่อยครั้งที่การรับรู้ของเรา 


เป็นการมอง
ผ่านปริซึม (Prism) 
ซึ่งมีการหักเหของแสง 
มันจึงบิดเบือนไป


     ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือ เราไม่เข้าใจตัวเราอย่างแท้จริง แต่เราคิดว่าเราเข้าใจ เราทึกทักไปว่า เราเข้าใจ เราคิดว่าเราเข้าใจลูก สามี ภรรยา เพื่อน เราคิดว่าเราเข้าใจเขา คำสอนหนึ่งของ พุทธศาสนาก็คือ การรับรู้ของเราไม่ใช่ความเป็นจริงของเขา เหมือนกับการที่เราเห็นโต๊ะหมู่บูชา เราเห็นพระพุทธรูปบนโต๊ะหมู่บูชา เราอาจจะรู้สึกเคารพ สักการะ รู้สึกถึงความสงบและมั่นคง เป็นที่พึ่ง แต่สำหรับปลวกมันไม่ได้เห็นแบบนี้ มันอาจคิดว่า "โอ้...นี่คืออาหารอันโอชะ" แล้วเมื่อ มดเดินผ่านมา "ว้า..ไม่หวานเลย ไม่มีน้ำตาล" แล้วมันก็ไป โต๊ะหมู่บูชาไม่น่าสนใจสำหรับมด ...นี่คือปัญหาของการรับรู้ ซึ่งเป็น 1/3 ของความทุกข์ของมนุษย์

        การรับรู้ของเราส่วนหนึ่งก็เป็นมรดกตกทอดมา บางทีเราไม่รู้ว่าทำไมนะเราจึงทำสิ่งนั้น เช่นเธออาจจะเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าเธอเห็นชุดสีแดงแขวนอยู่ แล้วก็รู้สึกชอบจังเลย ไม่รู้ว่าทำไม แล้วเธอก็ซื้อมา แล้วก็พบว่ามันไม่เหมาะกับเธอ แต่เธอก็ชอบมันมาก หากเธอมีสมาธิ นิ่งมากพอ เธออาจระลึกได้ว่า ครั้งหนึ่งแม่ของเธอเคยใส่ชุดสีแดงแบบนี้ แม่คือคนที่ทำให้เธอ มีความสุข เธอรักแม่ ดังนั้นเมื่อเธอเห็นชุดสีแดงนี้เข้ามันจึงเตือนให้เธอระลึกถึงความสุข นึกถึงแม่ เธอจึงชอบชุดสีแดงชุดนี้

        เมื่อหลวงพ่อเป็นเด็ก ตอนนั้นเป็นช่วงสงครามเวียดนาม ตกกลางคืนจะมีเสียงเครื่องบินดังมาก บินขึ้นไปเพื่อจะไปทิ้งระเบิด หลวงพ่อนอนอยู่กับน้องชาย เสียงเครื่องบินที่ดังเช่นนั้น ทำให้น้องชาย ของท่านผวาลุกขึ้น แล้วท่านก็ต้องเป็นคนคอยปลอบน้องให้กลับลงไปนอน ในแต่ละคืนก็จะ เกิดเหตุการณ์เช่นนี้หลายครั้ง

        เมื่อหลวงพ่อโตขึ้นและย้ายออกมาจากหมู่บ้าน หลวงพ่อสังเกตุว่าในยามเย็นที่พระอาทิตย์ ใกล้ตกดิน เวลายามนั้นหลวงพ่อจะเศร้ามาก รู้สึกไม่ชอบ เศร้า แม้ใครๆ จะบอกว่ามันช่างเป็นเวลา ที่สวยงาม ซึ่งหลวงพ่อก็เห็นว่า ใช่มันสวยงามแต่มันก็เศร้า จนกระทั่งหลวงพ่อบวชในหมู่บ้านพลัม ความรู้สึกนี้ก็ยังคงติดตามเสมอ ไม่หาย วันหนึ่งหลวงพ่อนั่งทำสมาธิภาวนาอยู่ในห้อง แล้วแสง อาทิตย์ยามเย็นก็ส่องเข้ามากระทบ หลวงพ่อรู้สึกเศร้าโศกอย่างมาก น้ำตาไหลพรากอาบแก้ม หลวงพ่อลุกขึ้นเดินช้าๆ อยู่กับลมหายใจและการก้าวเท้า รู้สึกถึงความเศร้า ตระหนักรู้ และโอบรับ ความเศร้าโศกนั้น หลวงพ่อจึงได้รู้ว่าในหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่หลวงพ่อไม่ชอบเวลายามเย็นโพล้เพล้ เช่นนั้น ทั้งที่รู้ว่ามันเป็นช่วงเวลาที่สวยงาม เป็นเพราะหลวงพ่อจดจำว่า หลังจากโพล้เพล้ก็จะเข้าสู่ ความมืด เวลานอน แล้วความทุกข์และภัยสงครามก็เริ่มขึ้น ทั้งที่สงครามนั้นได้จบไปนานแล้ว หลังจากนั้นหลวงพ่อก็สามารถถอนรากของความเจ็บปวดนี้ได้ ปัจจุบันนี้ยามเย็นเป็นเวลาที่สวยงาม สงบ และเบิกบาน หลวงพ่อไม่มีความทุกข์ในยามเย็นใกล้ค่ำอีกแล้ว

        เราทุกคนต่างก็มีก้อนทุกข์อยู่ การฝึกมองอย่างลึกซึ้งถึงก้อนทุกข์นั้น จะเป็นการช่วยให้เรา สลายความทุกข์นั้นได้ เราต้องหาจุดหลอมละลาย (Melting Point) ก้อนทุกข์ของเราให้เจอ ซึ่งต้องอาศัยการมองอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่ด้วยความคิด บ่อยครั้งที่การรับรู้ของเราเป็นการมองผ่าน ปริซึม (Prism) ซึ่งมีการหักเหของแสง มันจึงบิดเบือนไป

        เมื่อวาน (5 เม.ย.51) หลวงพี่ฟับหลิว (หลวงพี่ธรรมรักษา) ได้พูดถึงเรื่องความรัก และ การตกหลุมรัก ความจริงปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความรัก ปัญหาอยู่ที่การตกหลุมรัก Fall in Love ความรักนั้นอบอุ่น นุ่มนวล มีความสุข แต่มันจะกลายเป็นทุกข์เมื่อเรา "ตกหลุมรัก" มันไม่เป็นอิสระ ติดอยู่ เขาจึงใช้คำว่า Falling : ตก หล่น ไม่ว่าความรักนั้นจะเป็นแบบใดก็ตาม รักลูก สามี ภรรยา เราอาจรู้สึกหงุดหงิด อึดอัด เพราะเราสื่อสารไม่ได้ ขุ่นเคือง ซึ่งจะทำให้ความรักกลายเป็นแง่ลบ Fall in Love เป็นอุบัติเหตุ มีผู้รักและมีผู้ถูกรัก อาจจะดีกว่าหากเรากระโดดขึ้นมาจากหลุมรัก แทนที่จะใช้คำว่า Fall in Love เราอาจใช้คำว่า Plunge into Love กระโจนเข้าสู่กระแสรัก เป็นหนึ่งเดียวกับสายธารแห่งความรักที่ไหลล่องไป เพราะนั่นคือความรักที่แท้ การตกหลุมรัก เป็นอุบัติเหตุ แต่การอยู่ในกระแสแห่งรักเป็นกระบวนการของชีวิต เป็นหนึ่งเดียว เป็นความรักที่แท้ ความรักของจักรวาล (Fall in Love is an accident but Plunge into Love is Process of Life , it is True Love, Universal Love.) ...๐

--------------------------------------------------------------------------------------------
เก็บความจากธรรมบรรยาย โดยไถ่ฟับเอิ๋น : พระมุตราธรรม (หลวงพ่อส้มโอ)
งานภาวนา "รู้จักใจ : ภาวนาเพื่อความเข้าใจในครอบครัว"
วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม