วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ศิลปะแห่งการดูแลอารมณ์ ศิลปะแห่งการกลับคืนสู่ลมหายใจของเรา


บันทึกจากปาฐกถาธรรม "ศิลปะแห่งการดูแลอารมณ์"
วันพุธที่ 3 ตุลาคม 2550 ณ ห้องประชุมมงคลนาวิน ตึก สก. ชั้น 10 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

โดย พรรัตน์ วชิราชัย / สำนักข่าวบางบ๊วย

บนถนนที่รถติด อากาศร้อนตับแตก เราติดแหง่กอยู่ในรถด้วยความหงุดหงิด พลางคิดว่าเมื่อไหร่จะถึงบ้านเสียที แต่พอถึงบ้าน แทนที่จะพัก เราวางกระเป๋า จับไม้กวาดทำความสะอาดบ้านที่ไม่สะอาด พลางคิดว่าพอทำงานบ้านเสร็จละก็จะได้มีความสุข พอทำงานบ้านเสร็จ เราเห็นทีวีก็อดที่จะเปิดไม่ได้ พลางคิดว่าดูรายการนี้จบแล้วค่อยว่ากัน หลังจากนั้นสามีก็กลับถึงบ้าน และ ชวนเราพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตที่ทำงาน เราฟังอย่างขอไปที พลางคิดว่า ถ้าฟังเสร็จเราน่าจะมีความสุขซะที!!!

แต่ใช่หรือไม่ เราไม่เคยมีความสุขเลย

นิสัยที่ไม่เคยอยู่ในปัจจุบันเช่นนี้ ทำให้เราไม่เคยมีความสุขกับปัจจุบัน ไม่มีความสุขไม่ว่าอยู่ที่ไหน เพราะเราเฝ้ารอแต่ความสุขที่อยู่ ในอนาคต เราจึงเต็มไปด้วยอารมณ์ร้อนรนและหงุดหงิด สร้างความทุกข์ให้กับตัวเราเองและคนรอบข้างเสมอๆ

คำว่า "อารมณ์" คำเดียวเหมือนเล่นตลก ทำให้คนเป็นบ้า เกรี้ยวกราด เศร้าซึม และฆ่ากันตายได้ ราวกับเราไม่ใช่ตัวเรา

ภิกษุณีนิรามิสา จากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส ชักชวนเราฟังเสียงระฆังแห่งสติ พร้อมร้องเพลง "ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก" เพื่อตระหนักรู้ลมหายใจและอารมณ์ของเรา ในงานปาฐกถาธรรม "ศิลปะแห่งการดูแลอารมณ์" ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในวันพุธ ที่ 3 ตุลาคม 2550 ที่ผ่านมา


ทำไมต้องลมหายใจ?

ท่านกล่าวว่า "ลมหายใจ" เป็นเรื่องพื้นฐานที่เราต่างมี แต่เรามักลืมมันเสมอ ในทางพุทธ ลมหายใจเป็นดั่งเป็นสะพาน เป็นดั่งแม่เหล็ก ดึงจิตใจของเรากลับมาที่กาย เตือนให้เราหยุด ซักครู่ กลับมาสำรวจ ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ของเรา

เช่นเดียวกับ "อารมณ์" หลายครั้งเราตกอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างรุนแรง แต่เรากลับ ไม่รู้ว่าเราอยู่ในภาวะผิดปกติ บางครั้งถึงกับเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังเป็นอะไรกันแน่? เราโกรธ หงุดหงิด ซึมเศร้า หรือ สับสน?

"ลมหายใจ" เป็นเครื่องมือที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง หากเพียงเรารู้จักที่จะหยุด ชะลอความเร็ว ในใจลงเสียบ้าง เราก็ย่อมมองเห็นภาวะภายในตัวเราเอง

"หายใจเข้า ฉันตระหนักรู้อารมณ์ของฉัน 
หายใจออก ฉันขอโอบกอดอารมณ์ของฉันด้วยความรัก ความอ่อนโยน,
หายใจเข้า ฉันค่อยๆ ทำให้อารมณ์ของฉันสงบลง 
หายใจออกฉันยิ้มให้อารมณ์ของฉัน" 

หลวงพี่นิรามิสาให้คำกลอนสำหรับการอ่าน ยามที่ใจเราสับสน

ภิกษุสมุทรธรรม ธรรมาจารย์ชาวออสเตรเลียจากหมู่บ้านพลัม บอกกับเราว่า การหายใจและการทำสมาธินั้นมีหน้าที่ 4 อย่างคือ การหยุด การสงบ การพักผ่อน และ การเยียวยา

การหยุด คือ หยุดที่จะวิ่งหาความสุขในอนาคต เศร้าโศกกับอดีต อยู่ในปัจจุบันขณะ , การสงบ จะทำให้จิตใจนิ่งเหมือนทะเลสาบ ที่นิ่งใส เราไม่ถูกดึงพาไปกับอารมณ์ ทำให้เราสามารถมองสถานการณ์ดั่งที่มันเป็น การหยุดและความสงบจากการทำสมาธิ อย่างต่อเนื่องนี่จะค่อยๆ ผ่อนคลายและทำให้เราการเยียวยารากแห่งอารมณ์ของเราได้

ไม่เป็นไรเลยที่เราจะโกรธ หากแต่เราต้องฝึกปฏิบัติกับความโกรธ การดูแลอารมณ์ของตัวเองเหมือนกับการดูแลทารกน้อยๆ เมื่อเด็กน้อยร้องไห้ เราจะเข้าไปมาโอบอุ้ม พลางร้องเพลงให้เด็กน้อยสงบลง จากนั้นจึงค่อยๆ ดูว่าเขาต้องการอะไร เขาไม่สบาย หรือไม่ได้เปลี่ยนผ้าอ้อม เช่นเดียวกับอารมณ์ของเราที่ต้องการพลังแห่งสติมาโอบกอดเอาไว้ เราค่อยๆ หยุดพายุแห่งอารมณ์ มองให้ลึกซึ้ง เราก็จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา” หลวงพี่สมุทรธรรมกล่าว



สำหรับชีวิตที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง เราอาจต้องการ "ตัวช่วย" ที่จะน้อม นำเราเข้าสู่สติได้มากขึ้น หลวงพี่นิรามิสาและหลวงพี่สมุทรธรรม ได้บอก วิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยเตือนสติเรา แก่เราดังนี้

๐ ฝึกที่จะยิ้ม
ในวิถีของนักบวช นักบวชจะฝึกปฏิบัติการตื่นอย่างตระหนักรู้ทุกเช้า และกล่าว คำกลอน "หายใจเข้า ตื่นเช้านี้ฉันยิ้ม ฉันรู้ว่าฉันมีเวลา 24 ชั่วโมงใหม่เอี่ยม รอฉันอยู่" ในที่นี้เราอาจหาดอกไม้มาวางบนหัวนอน หรือรูปภาพที่เตือนให้เรา เบิกบานกับทุกเช้าวันใหม่พร้อมอ่านคำกลอนนี้

๐ หา "ระฆังแห่งสติ" ที่ไหนก็ได้
แนวทางปฏิบัติของหมู่บ้านพลัมมักใช้เสียง "ระฆัง" เป็นเสียงเตือนของ พระพุทธองค์ให้เรากลับมาสู่ลมหายใจ กลับมาสู่เรือนใจของเรา ในชีวิตประจำวัน เราสามารถหาสัญลักษณ์ที่เตือนเราให้กลับสู่สติได้มากมาย เช่น ทุกครั้งที่เห็น ไฟแดง เรากลับมาอยู่กับลมหายใจ แทนที่เราจะหงุดหงิดเรากลับเบิกบานยิ่งขึ้น

๐ การ์ดเตือนหายใจในกระเป๋า
เราควรเขียนการ์ดเตือนสติเล็กๆ ไว้ในกระเป๋า การ์ดนั้นอาจเป็นคำพูด หรือรูปภาพ อันน้อมนำเราสู่สติ ทุกครั้งที่เราตกอยู่ในภาวะอารมณ์ เมื่อเราเปิดกระเป๋า เพื่อหยิบสิ่งของ การ์ดใบน้อยย่อมเตือนใจให้เราหายใจ และใจเย็นมากขึ้น

๐ หายใจไปกับพระ
คนไทยเรานิยมห้อยพระพุทธรูป เรานับถือพระองค์เป็นดั่งที่พึ่งในหลายๆ ด้าน เราสามารถขอความช่วยเหลือพุทธะในใจเราได้เช่นกัน เราอาจประนมพระพุทธรูป ไว้ในมือ พร้อมกล่าวคำกลอน "หายใจเข้า ฉันรู้ว่าฉันกำลังตกอยู่ในอารมณ์ หายใจออก ฉันขอให้ความเป็นพระในตัวฉันดูแลอารมณ์ของฉันด้วย หายใจเข้า ฉันทำอารมณ์ของฉันให้สงบ หายใจออก ยิ้มให้อารมณ์ของฉัน"

๐ เส้นทางแห่งสติ
เราย่อมมีเส้นทางที่ต้องเดินไปมาเสมอในชีวิตประจำวัน เราอาจกำหนดทางเดิน จากป้ายรถเมล์ไปถึงที่ทำงานเป็นเส้นทางแห่งสติ บนเส้นทางนั้นเราจะเดินอย่าง ผ่อนคลาย เบิกบาน และอยู่กับปัจจุบันอย่างเต็มร้อย การเดินเช่นนั้นเสมอ ทำให้เราดำรงอยู่กับเพื่อนร่วมงานได้อย่างเต็มเปี่ยม และมีความสุข

๐ ขนมเค้กในตู้เย็น
คำๆ นี้เป็นรหัสลับของครอบครัวนักปฏิบัติครอบครัวหนึ่ง เมื่อคุณพ่อคุณแม่เริ่มมี ปากเสียงกัน ลูกสาวจะบอกคุณแม่หรือคุณพ่อว่า "คุณแม่/พ่อค่ะ เรามีขนมเค้ก ในตู้เย็นค่ะ" พอถึงตอนนั้นคุณแม่/คุณพ่อจะค่อยๆ สงบลง เดินไปที่ตู้เย็น และ ชวนครอบครัวทานขนมหวาน ผ่อยคลายความตึงเครียด "ขนมเค้ก" ในที่นี้เป็นคำที่ รู้กันในครอบครัวว่าเรากำลังมีปัญหาและกลับมีที่ลมหายใจกันเถิด ขนมกลายเป็น ตัวแทนของความสดชื่น เบิกบานที่ทุกคนสามารถแบ่งปันกันได้ รหัสเช่นนี้ เราสามารถสร้างขึ้นเองได้กับผู้ที่เป็นที่รักของเรา

คัดลอกจาก : http://www.thaiplumvillage.org/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม